กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--โฟร์ พี แอดส์
สธ. เตือนประชาชน พบผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียในบางพื้นที่ที่ไม่เคยพบผู้ป่วย เน้นย้ำประชาชนที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงมาลาเรียต้องป้องกันตนเอง หลังกลับภูมิลำเนาถ้ามีไข้หนาวสั่น ต้องรีบตรวจรักษา
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง สถานการณ์โรคมาลาเรียในประเทศไทยว่าจากรายงานเฝ้าระวังโรคโดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -15 พฤศจิกายน56 พบมีผู้ป่วยโรคมาลาเรีย 13,022 ราย และเสียชีวิต 9 รายจาก 75 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 20.50ต่อแสนประชากร และอัตราตาย 0.01 ต่อแสนประชากร ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรร้อยละ 41 รองลงมาคือ นักเรียนร้อยละ 23 และรับจ้างร้อยละ 17 ส่วน กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 15-24 ปี ร้อยละ23 รองลงมา คืออายุ 25-34 ปี ร้อยละ18 และอายุ 35-44 ปี ร้อยละ 14 ตามลำดับภาคที่มีผู้ป่วยสูงสุดคือภาคใต้ 3,940 ราย (อัตราป่วย 81.09 ต่อแสนประชากร) ภาคเหนือ 1,634 ราย(อัตราป่วย 26.74 ต่อแสนประชากร) ภาคกลาง 1,076 ราย (อัตราป่วย 7.80 ต่อแสนประชากร)ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 730 ราย (อัตราป่วย 4.91 ต่อแสนประชากร) เมื่อจำแนกเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ยะลา ระนอง ตาก แม่ฮ่องสอนและชุมพร ส่วนจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วย คือ สิงห์บุรี และแพร่
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ล่าสุดมีรายงานโรคมาลาเรียเกิดขึ้นที่จังหวัดพัทลุง โดยผู้ป่วยรายแรกเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดพัทลุง เดินทางไปเยี่ยมญาติและค้างคืนในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรียที่จังหวัดสตูลหลังกลับภูมิลำเนา 14 วัน เริ่มมีอาการป่วย และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพัทลุง เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2556 โรงพยาบาลพัทลุงได้เก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจ พบเชื้อไข้มาลาเรีย
กรมควบคุมโรคโดยหน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 5 จ.พัทลุง ได้สอบสวนโรค เฝ้าระวัง และควบคุมโรคในพื้นที่ โดยได้เจาะเลือดค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง และให้การรักษาเมื่อพบเชื้อไข้มาลาเรีย จนถึงเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา พบมี ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มเติมอีก 12 ราย รวมทั้งหมดเป็น13 ราย
ซึ่งจากการสอบสวนโรคระบุว่าการระบาดของโรคครั้งนี้ เนื่องจากผู้ป่วยมารับการตรวจหาเชื้อมาลาเรียช้าเพราะพื้นที่ที่พบผู้ป่วยไม่มีรายงานโรคไข้มาลาเรียมานานแล้ว กระทรวงสาธารณสุขจึงได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคและหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ดำเนินมาตรการ เพื่อควบคุมการระบาดของโรคมาลาเรียในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้มีรายงานว่าสามารถควบคุมการระบาดของโรคและไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มเติม
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังจากมีรายงานพบผู้ป่วยโรคมาลาเรียในพื้นที่จังหวัดพัทลุง กรมควบคุมโรคได้สั่งการและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดของโรคในทันที โดยการติดตามสอบสวนโรค เจาะเลือดรอบบ้านผู้ป่วย เพื่อค้นหาผู้ที่อาจติดเชื้อมาลาเรีย และให้การรักษาเมื่อพบเชื้อ รวมทั้งพ่นเคมีชนิดมีฤทธิ์ตกค้างตามฝาบ้าน เพื่อลดจำนวนยุงพาหะซึ่งพ่นได้ครอบคลุมร้อยละ100 ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยและรอบบ้านผู้ป่วย การออกหน่วยมาลาเรียคลินิกเคลื่อนที่ เพื่อให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์แก่ประชาชน แจกมุ้งชุบสารเคมีสำหรับป้องกันยุงจำนวน 500 หลังพร้อมทั้งได้กำชับให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฝ้าติดตามสถานการณ์และดำเนินการควบคุมโรคอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมการป้องกันควบคุมโรคไข้มาลาเรียอย่างเข้มแข็งด้วยการ 1. ค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ และสำรวจผู้ไปประกอบอาชีพจากต่างถิ่น 2.ขอความร่วมมือ อสม. แจ้งบอกกล่าวสถานที่เข้ารับบริการตรวจหาเชื้อไข้มาลาเรีย 3. แนะนำประชาชนให้นอนกางมุ้งและทายากันยุง ป้องกันการถูกยุงกัด 4.เฝ้าระวังผู้ป่วยต่อไปอีก 60 วันหลังพบผู้ป่วยรายสุดท้าย 5. ฝึกอบรม “เรื่องการเจาะโลหิตหาเชื้อไข้มาลาเรีย” แก่ อสม.และ 6. บุคลากรทางการแพทย์ให้ซักประวัติการเดินทางของผู้ป่วยที่มารับการรักษาด้วยอาการไข้ หนาวสั่น เป็นต้นซึ่งการดำเนินมาตรการดังกล่าวได้ส่งผลให้การควบคุมการระบาดของโรคมาลาเรียทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“สำหรับวิธีป้องกันตนเองจากโรคมาลาเรียนั้น ง่ายๆ คือ ต้องไม่ให้ยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะนำโรคมาลาเรียกัด สำหรับผู้ที่อาศัยหรือผู้ที่เดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ตามแนวชายแดน โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณที่เป็นภูเขาสูง ป่าทึบ และมีแหล่งน้ำลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของยุงก้นปล่อง อาจเสี่ยงเป็นโรคมาลาเรียได้ ควรเตรียมมุ้งหรือเต้นท์ชนิดที่มีตาข่ายกันยุงสำหรับกางนอนไปด้วย ก่อนจะออกไปทำงานหรือไปกรีดยางในสวนยางพาราควรทายากันยุงที่แขน ขา ใบหู หลังคอ ควรสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวสีอ่อนๆ เพราะการใส่เสื้อผ้าสีทึบจะดึงดูดความสนใจให้ยุงกัดได้มาก หลังกลับจากกรีดยางหรือทำงานในป่า หากมีอาการหนาวสั่น มีไข้ ปวดศีรษะ ผิวหนังซีด อาเจียน เบื่ออาหาร หรือปวดศีรษะมาก อาจปวดลึกเข้าไปในกระบอกตา กระสับกระส่าย เพ้อ กระหายน้ำชีพจรเต้นเร็ว คลื่นไส้อาเจียน มีเหงื่อออกชุ่มตัว ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลพร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่า เพื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง โดยการตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรีย และได้รับการรักษาที่รวดเร็ว โรคนี้มียารักษาหายหากรักษาเร็วจะช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตได้ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะอาจทำให้เชื้อไข้มาลาเรียดื้อยา และทำให้อาการของโรครุนแรงยิ่งขึ้น ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 ” อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว