กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--professional image maker
ทัพนักกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคไทย ประกาศความพร้อม เตรียมลัดฟ้าสู้ศึกการแข่งขัน The 2013 Special Olympics Asia Pacific Games ที่ประเทศออสเตรเลียระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน - 8 ธันวาคม 2556
คณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิคสากล จัดการแข่งขัน The 2013 Special Olympics Asia Pacific Games ในระดับเอเชียแปซิฟิกอย่างเป็นทางการครั้งแรก ที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศออสเตรเลีย สเปเชียลโอลิมปิคไทย ประเดิมส่งทัพนักกีฬา จำนวน 60 คน เข้าร่วมการแข่งขันใน 5 ประเภทกีฬา ประกอบด้วย กรีฑา (ลู่-ลาน) ว่ายน้ำ บอชชี่ ฟุตบอล และเทเบิลเทนนิส
ดร. นริศ ชัยสูตร ประธานคณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2556 นี้ คณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิคสากล (Special Olympics International) ได้กำหนดให้มีการจัดการแข่งขัน The 2013 Special Olympics Asia Pacific Games ซึ่งเป็นการจัดการแข่งขันระดับเอเชียแปซิฟิกขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยจะจัดขึ้นที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศออสเตรเลีย ในระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน — 8 ธันวาคม 2556 ซึ่งมีนักกีฬาที่มีความพิการทางสมองและปัญญา หรือ นักกีฬาพิเศษจากทั่วภาคพื้นนี้เข้าร่วมประมาณ 2,500 คน พร้อมผู้ฝึกสอนและเจ้าหน้าที่ 600 คน และอาสาสมัคร 4,000 คน จาก 32 ประเทศทั่วภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค เข้าร่วมการร่วมแข่งขัน โดยกำหนดประเภทกีฬาสำหรับการแข่งขันไว้ 9 ประเภท อาทิ กรีฑา ฟุตบอล เทเบิลเทนนิส และว่ายน้ำ เป็นต้น
ดร.นริศ กล่าวว่า สำหรับการแข่งขันแข่งขัน The 2013 Special Olympics Asia Pacific Games ในครั้งนี้ มีนักกีฬาผู้พิการทางสมองและปัญญา หรือนักกีฬาพิเศษตัวแทนประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมการแข่งขัน ทั้งหมด 60 คน แบ่งเป็นนักกีฬาชาย 35 คน และนักกีฬาหญิง 25 คน โดยนักกีฬาทั้งหมดมีอายุระหว่าง 9 -27 ปี จาก 25 สถาบัน ใน 15 จังหวัด ซึ่งจะเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่ กรีฑา ประเภทลู่ และ ลาน จำนวน 16 คน แบ่งเป็นนักกีฬาชาย 8 คน หญิง 8 คน , ว่ายน้ำ จำนวน 4 คน แบ่งเป็นชาย 3 คน หญิง 1 คน , บอชชี่ จำนวน 12 คน แบ่งเป็นชาย 6 คน หญิง 6 คน , ฟุตบอลหญิง 5 —a-Side จำนวน 8 คน ฟุตบอลชาย 11-A-Side จำนวน 16 คน และเทเบิลเทนนิส 4 คน แบ่งเป็นนักกีฬาชาย 2 คน หญิง 2 คน โดยนักกีฬาทั้งหมดจะเดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมทีม 2 คน และผู้ฝึกสอนกีฬา 21 คน ตามโควต้าที่สเปเชียลโอลิมปิคสากลได้กำหนดให้กับประเทศไทย
ประธานคณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันการจัดการแข่งขันกีฬาสำหรับบุคคลที่มีความพิการทางสมองและปัญญาโดยเฉพาะหรือ“สเปเชียลโอลิมปิค” มีนักกีฬาพิเศษจาก 180 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเข้าร่วมกิจกรรม โดยการแข่งขันกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคนั้นมีด้วยกันหลายระดับ ประกอบด้วย ระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศ เอเซียแปซิฟิค และรับดับโลก ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ได้ส่งเสริมและพัฒนาสุขพลานามัยของบุคคล “พิเศษ” ที่มีอยู่ในประเทศไทยกว่า 16,000 คน จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ด้วยการจัดการฝึกซ้อมแข่งขันกีฬา การตรวจสุขภาพ ตลอดจนการอบรมผู้ฝึกสอนกีฬา เพื่อให้นักกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคไทยมีสุขภาพดี สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมปกติ รู้จักความรับผิดชอบ การช่วยเหลือตัวเอง เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัว ตลอดจนสร้างการยอมรับ และความเข้าใจเกี่ยวกับคนที่พิการทางสมองปัญญาต่อสังคมไทยอย่างกว้างขวาง และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่พิการทางสมองและปัญญาในประเทศไทยสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมไทยได้อย่างมีคุณค่า
ทางด้าน คุณณัฐพงศ์ พรประยุทธ ผู้จัดการฝ่าย สังกัดผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่วางแผน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการเป็น Thailand Delegation Gold Partner หรือผู้สนับสนุนหลัก ให้กับคณะนักกีฬาสเปเชียลโอลิปปิคไทยที่ไปร่วมแข่งขันในครั้งนี้ว่า ถือเป็นภารกิจต่อสังคมที่องค์กร ปตท.มีความเต็มใจที่จะให้การสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในช่วงเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมานั้น ปตท. ได้ให้การสนับสนุนสเปเชียลโอลิมปิคไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในการนำนักกีฬาไปแข่งขันสากล ตลอดจนการสนับสนุนการจัดการแข่งขันระดับชาติด้วย ปตท.มีความภาคภูมิใจต่อการเปิดพื้นที่ทางสังคมให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้พวกเขาแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะต่อเวทีระดับสากลอย่างการแข่งขัน Special Olympic Asia Pacific Games ในครั้งนี้
สำหรับเด็กชายขวัญชัย ศรีสุวรรณ์นักกีฬาฟุตบอลทีม 11 คน วัย 14 ปี จากจังหวัดยโสธร ที่เป็นตัวแทนของนักกีฬา 60 คนนั้น ได้กล่าวถึงการเตรียมตัวที่ผ่านมาด้วยการฝึกซ้อมกีฬาสัปดาห์ละ 6 วันซึ่งทุกวันนี้กำลังเก็บตัวก่อนแข่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ดีใจที่ได้รับโอกาสเป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันครั้งนี้ และจะพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ