กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--พม.
วันนี้ (๒๐ พ.ย.๕๖) เวลา ๑๔.๓๐ น. นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้การต้อนรับ คณะเยาวชนโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ ประจำปี ๒๕๕๖ จำนวน ๓๓๐ คน จาก ๑๐ ประเทศอาเซียน และญี่ปุ่น เนื่องในโอกาสที่เรือ NIPPON MARU (นิปปอน มารู) แวะเยือนประเทศไทย ณ ท่าเรือกรุงเทพ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ
นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า โครงการเรือเยาวชนฯ เป็นโครงการที่มีความสำคัญในการสนับสนุนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่จากประเทศอาเซียนและญี่ปุ่น ได้มีโอกาสแสดงศักยภาพอย่างแข็งขัน ในการดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันและกัน ตลอดจนความสัมพันธ์ระดับประเทศและภูมิภาค ซึ่งในสังคมปัจจุบัน มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมในระดับภูมิภาค เยาวชนจึงควรได้รับการเสริมสร้างประสบการณ์ที่กว้างไกล เพื่อให้เกิดความเข้าใจในบริบทต่างๆ ไม่เฉพาะแต่ในประเทศของตนเอง โครงการเรือเยาวชนฯ จึงนับได้ว่าเป็นโครงการที่ประสบผลสำเร็จในระดับภูมิภาคอาเซียน จากการที่ดำเนินโครงการฯ มาเป็นระยะเวลา ๔๐ ปี และได้สร้างโอกาสให้กับเยาวชนมากมาย ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และการใช้ชีวิตร่วมกัน แม้ว่าเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ จะมาจากพื้นฐานทางวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และมีความถนัดที่แตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างนี้จะช่วยเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีในกลุ่มเยาวชน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง
นายวิเชียร กล่าวต่อไปว่า โครงการเรือเยาวชนฯ เป็นการดำเนินการตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับรัฐบาลประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ ถึงปัจจุบัน เป็นปีที่ ๔๐ มีประเทศสมาชิกอาเซียน เข้าร่วมโครงการ ๑๐ ประเทศ คือ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ ไทย บรูไน สาธารณรัฐสังคมเวียดนาม กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสหภาพพม่า ซึ่งแต่ละประเทศจะรับสมัครเยาวชนไทยชาย-หญิง อายุระหว่าง ๑๘-๓๐ ปี เพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ ประจำปี ๒๕๕๖ ประเทศละ ๒๗ คน รวมกับเยาวชนจากประเทศญี่ปุ่นจำนวน ๔๐ คน เดินทางโดยเรือ NIPPON MARU (นิปปอน มารู) เข้าร่วมโครงการระหว่างวันที่ ๒๘ ตุลาคม - ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๖ โดยมีกำหนดการ แวะเยือนและเข้าร่วมกิจกรรมกับเยาวชน ณ ประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม ไทย สิงค์โปร์ และฟิลิปปินส์ เป็นเวลา ๕๑ วัน
“โครงการเรือเยาวชนฯ จัดขึ้น เพื่อส่งเสริมมิตรภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างเยาวชนญี่ปุ่นและเยาวชนอาเซียน เป็นการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมในการอยู่รวมกลุ่มและสร้างสรรค์ประโยชน์ร่วมกัน เยาวชนทุกคนที่เข้าร่วมโครงการฯจะได้สัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประเทศสมาชิก ผ่านการพักกับครอบครัวเจ้าภาพของแต่ละประเทศ เป็นเวลา ๒-๓ วัน ตลอดจนเสริมสร้างประสบการณ์ความรู้ ความร่วมมือที่จะนำไปใช้ประโยชน์แก่ประเทศชาติในอนาคตต่อไป” นายวิเชียร กล่าวตอนท้าย.