กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--M.O CHIC
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ (อบจ.สมุทรปราการ) เปิดพื้นที่ท่องเที่ยวเต็มรูปแบบตาม “โครงการเสริมสร้างภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรปราการ” เพื่อเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์และการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดสมุทรปราการให้เป็นที่รู้จัก มุ่งรักษาและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติภายใต้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นายกอบจ.สมุทรปราการ เปิดเผยว่า “กระเพาะหมู” หรือ “บางกะเจ้า” อำเภอพระประแดง เป็นผืนป่าธรรมชาติผืนเดียวที่ติดเมืองหลวง มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น ๑๑,๘๑๙ ไร่ โดยพื้นที่กว่าร้อยละ ๘๕ โอบล้อมด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ไม่ห่างจากปากอ่าวไทยประมาณ ๒๐ กิโลเมตร เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่เกิดจากการสะสมของตะกอนแม่น้ำ เกิดระบบนิเวศในลักษณะ “๓ น้ำ” คือ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย อันส่งผลต่อการพัฒนาระบบและโครงสร้างของสังคมพืชและสัตว์มีความหลากหลาย คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้อนุรักษ์พื้นที่สีเขียวตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ บริเวณนี้จึงเป็นแหล่งผลิตอากาศบริสุทธิ์ให้กับประชาชนในเขตจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดใกล้เคียง
“อบจ.สมุทรปราการจึงมีโครงการเสริมสร้างภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเปิดพื้นที่และพัฒนาการท่องเที่ยวสมุทรปราการ โดยสนับสนุนแผนการพัฒนาสมุทรปราการให้ก้าวไปสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และธรรมชาติ หากมองโดยภาพรวมของการเดินทางที่เชื่อมโยงแล้ว นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาเที่ยวชมสมุทรปราการทั้งจังหวัดได้ภายในระยะเวลาเพียง ๑ ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันการเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติในพื้นที่สมุทรปราการ เป็นไปได้ยาก เพราะต้องใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ อย่างน้อยต้อง ๒ ชั่วโมง ทำให้พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดหลายแห่งถูกลืม ทั้งที่เป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยและธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในกระเพาะหมู หรือบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง ที่ได้รับการยกย่องจาก นิตยสารไทม์ (Time Magazine — Asia Version) ให้เป็น Best Urban Oasis of Asia”
นายชนม์สวัสดิ์กล่าวต่อว่า “สิ่งเหล่านี้เราต้องพัฒนาไปพร้อมๆกับการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ โดยเริ่มต้นที่บางกะเจ้า พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆในสมุทรปราการ เช่น เกาะผีเสื้อ ป้อมนาคราช ป้อมพระจุลจอมเกล้า บ้านสาขลา เป็นต้น ซึ่งจะมีการดำเนินการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรปราการเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น”
นายอัครวัฒน์ อัศวเหม รองนายกอบจ.สมุทรปราการ กล่าวเสริมเรื่องการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวสมุทรปราการเพิ่มเติมว่า “เรื่องราวของตัวเมืองสมุทรปราการเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในเชิงท่องเที่ยว วัฒนธรรมประเพณี หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์ที่ดำเนินชีวิตมาถึงปัจจุบันที่ยังคงทิ้งไว้ซึ่ง ‘กลิ่น’ เดิมๆที่เราสัมผัสมันได้ไม่ยาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและเป็นที่โดดเด่นในเมืองสมุทรปราการก็คือ ชุมชนบ้านสาขลา”
ชุมชนบ้านสาขลาตั้งอยู่บริเวณริมปากแม่น้ำเจ้าพระยาริมขอบอ่าวไทย หมู่บ้านนี้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือ รัชการที่ ๑ ได้เกิดสงคราม ๙ ทัพ ซึ่งต้องอาศัยการเกณฑ์กองกำลังทหารจากหมู่บ้านแห่งนี้ จนในหมู่บ้านเหลือเพียงแค่ เด็ก สตรี และคนชรา เมื่อพม่าเดินทัพผ่านมาและหมายจ้องจะยึดหมู่บ้าน พวกผู้หญิงร่วมมือกันหยิบอาวุธและออกไปต่อสู้ พม่าจึงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างราบคาบในสงครามครั้งนี้ และหลังจากนั้นไม่นาน หมู่บ้านนี้ก็ได้ถูกตั้งว่าหมู่บ้านสาวกล้า ตามวีรกรรมของเหล่าวีรสตรีที่ช่วยกันต่อสู้กับพม่าอย่างกล้าหาญ และเมื่อเวลาผ่านมา จากชื่อเดิมก็ค่อยๆเพี้ยนจนกลายมาเป็นหมู่บ้านสาขลาในปัจจุบัน
นอกจากเรื่องราวประวัติของหมู่บ้านสาขลาแล้ว วัดสาขลาที่อยู่คู่กับหมู่บ้านสาขลามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้เกิดขึ้นจากฝีมือชาวบ้านที่ช่วยกันสร้างครั้งเมื่อรบชนะทหารพม่าในราวปี พ.ศ. ๒๓๒๕ โดยลักษณะเด่นของวัดแห่งนี้ เริ่มจากครั้งที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ จนทำให้ท่านเจ้าอาวาสในขณะนั้นมีดำริที่จะให้ยกวิหารขึ้นสูงกว่าเดิมจากพื้นดิน ๓.๕ เมตร ซึ่งการกระทำตรงนี้ทำให้พบว่า ภายใต้ฐานวิหารมีพระพุทธรูปองค์สำคัญฝังอยู่ใต้ดินมากมาย รวมไปถึงลูกนิมิตโบราณที่ถูกฝังอยู่ในบริเวณนั้นกว่า ๒๐๐ ปี ซึ่งปัจจุบันถูกนำมาแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้มาเคารพสักการะ อีกทั้งยังมีพระปรางค์เอียงที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัด โดยกล่าวกันว่าพระปรางค์องค์นี้มีความมหัศจรรย์ไม่ต่างไปจากหอเอนเมืองปีซ่า ประเทศอิตาลีเลยทีเดียว
“ชุมชนบ้านสาขลาจึงกลายเป็นสถานที่ที่มีความน่าสนใจในตัวของมันเอง ทั้งเรื่องวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมที่มีความเป็นเอกลัษณ์ที่มีเสน่ห์หาดูได้ยากในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตของชุมชน และหากเราดูจากชุมชนที่มีการค้าขายทางน้ำและรวมไปถึงมีบ่อเลี้ยงกุ้งไว้อย่างมากมาย เราก็คงจะเดาได้ไม่ยากว่ากุ้งก็คงจะไม่พ้นที่จะเป็นของขายประจำหมู่บ้านสาขลา แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารขึ้นชื่อประจำหมู่บ้านแล้ว กุ้งที่มีความพิเศษกว่าที่อื่นตรงที่ลำตัวของกุ้งจะเหยียดตรง และต้มโดยไม่ต้องเติมน้ำ รอคอยและปล่อยให้เนื้อกุ้งคายความหวานออกมา และตบท้ายด้วยโรยน้ำตาลปี๊บ แค่นี้ก็ทำให้เราได้ลิ้มลองรสชาติของกุ้งเหยียดที่ได้ทั้งเนื้อและเปลือกที่กรอบอร่อย จนเป็นคำกล่าวขึ้นมาในหมู่บ้านสาขลาแห่งนี้ว่า ‘ใครมาสาขลาแล้วไม่กินกุ้งเหยียด ถือว่ามาไม่ถึงสาขลา’ นอกจากนี้ยังมี OTOP ขึ้นชื่อ อย่าง ปูรามเกียรติ์ นำกระดองปูที่มีในพื้นที่นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกที่สวยงามและเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศมาก” นายอัครวัฒน์ กล่าว
“อบจ.จะคิดแบบเดิมๆ ไม่ได้ จะมัวรอให้ภาครัฐอนุมัติแผนและงบประมาณมาอย่างเดียวไม่ได้ เราในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางด้วย ในส่วนการพัฒนาเรื่องการบริการสาธารณะให้กับประชาชนเพิ่มเติม สมุทรปราการจะมีครบทั้งสนามบิน รถไฟฟ้าโมโนเรล กระเช้าลอยฟ้า เรือเฟอร์รี่ ซึ่งโครงการเหล่านี้ทาง อบจ.สมุทรปราการ ได้เริ่มดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดเป็นแผนพัฒนาจังหวัดสมุทรปราการจนถึง พ.ศ. ๒๕๖๒” นายชนม์สวัสดิ์กล่าวในที่สุด