กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--สรอ.
กระทรวงไอซีทีสั่งเสริมเข้มระบบอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ เติมโครงการใหม่เสริมเข้มระบบส่วนกลางรับงาน ITU World 2013 ดัน EGA เป็นแม่งานพร้อมเข้าสู่ยุค G-SaaS จัดบริการรัฐสู่ประชาชนผ่านซอฟต์แวร์ทันสมัย เผยปีหน้าเห็นผลงานแบบก้าวกระโดด
นายสุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เปิดเผยว่า จากการที่ ICT ได้มอบหมายให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน) หรือ EGA ได้เร่งรัดพัฒนาระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Gov โดยทิศทางล่าสุดนั้นการขับเคลื่อนจะเน้นบูรณาการ 4 ด้านคือ 1.บุคลากร หรือ Peopleware โดยจะสร้างบุคลากรที่รองรับเทคโนโลยีใหม่แบบ Software as a Service หรือ SaaS ให้มากขึ้น 2.ระบบข้อมูลของประเทศ หรือ Dataware ซึ่งประกอบด้วยระบบ National GIS หรือระบบแผนที่ภูมิศาสตร์ทั้งระบบ, National Electronic Registration System (NERS) หรือระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของไทย, ระบบ National Knowledge Management หรือคลังความรู้แห่งชาติ และระบบ National MIS (Management Information System) หรือระบบสารสนเทศแห่งชาติ ทุกระบบจะมีแนวทางที่ชัดเจน และต้องสามารถเชื่อมต่อกันได้ในอนาคต
ส่วนด้านที่ 3.ระบบฮาร์ดแวร์ เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้งานฮาร์ดแวร์ใหม่ โดยเฉพาะการผลักดันภาครัฐเข้าสู่ระบบคลาวด์คอมพิวติ้งและอื่นๆ จำเป็นต้องมีการวางแผนบูรณาการทั้งในส่วนภาครัฐโดยทั่วไป และในส่วนกลางที่ EGA รับผิดชอบ โดยจะต้องรองรับโครงการ ใหม่ๆ อย่าง Government Data Center หรือ GDC ที่จะกลายเป็นส่วนกลางดูแลทั้งระบบฐานข้อมูล และแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกัน รวมถึงระบบ Government Communication Center (GCC) หรือระบบสื่อสารกลางของภาครัฐที่จะต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม 4.ระบบซอฟต์แวร์ ซึ่งในปีนี้จะต้องเกิด Smart Country Technology (SCT) ที่จะนำซอฟต์แวร์ลงไปยังพื้นที่ต่างๆ ให้สอดคล้องกับการใช้งานจริง
นอกจากนั้นทางกระทรวงไอซีทีเดินหน้าและเร่งพัฒนาเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน หรือ GIN ซึ่งทำให้เครือข่ายของ e-Government ภายในประเทศครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทย รวมถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของหน่วยงานอย่างบูรณาการ ปัจจุบัน GIN มีการเชื่อม โยงหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้นกว่า 2,000 หน่วยงาน รวมถึงการให้บริการระบบคลาวน์คอมพิวติ้งภาครัฐมากกว่า 130 ระบบพัฒนาระบบซอฟต์แวร์พื้นฐานของภาครัฐให้ใช้บริการผ่านเว็บไซต์ได้ หรือเรียกว่า Software as a Service (SaaS) ซึ่งมีบริการเสริมในด้านต่างๆ บนคลาวด์คอมพิวติ้ง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับภาครัฐ และมีการบูรณาการข้อมูลภาครัฐโดยจับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะด้าน เช่น โครงการเกษตรกรอัจฉริยะ หรือ Smart Farmer เป็นต้น
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า ในงาน ITU World 2013 ในครั้งนี้บูธรัฐบาลไทยจะอยู่ภายใต้แนวคิด Thai Government Software as a Service เนื่องจากนับจากนี้ระบบไอทีภาครัฐจะเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านจากยุคที่หน่วยงานภาครัฐของไทยที่ใช้ระบบไอทีเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในหน่วยงานตนเอง มาสู่การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน โดยต้องสามารถเข้าถึงได้ด้วยอุปกรณ์ที่หลากหลายและไม่มีการปิดกั้น
ที่ผ่านมา EGA ได้วางโครงสร้างพื้นฐานกลางเพื่อให้ระบบ G-SaaS หรือ Government Software as a Service โดยที่ผ่านมา ได้เปิดบริการประเภท Infrastructure as a service (G-IaaS) หรือพวกโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นระบบ ฐานข้อมูล และอื่นๆ ตามด้วย Platform as a service (G-PaaS) ที่เกี่ยวพันกับระบบปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐยอมรับได้ในระดับหนึ่งแล้ว ในปัจจุบัน ยังได้เดินหน้าดำเนินการต่อในเรื่อง Software as a service (G-SaaS) หรือบริการซอฟต์แวร์ออนไลน์ภาครัฐที่จะเป็นทางเลือกให้กับหน่วยงานภาครัฐให้เลือกใช้ซอฟต์แวร์ที่ทำงานผ่าน Government Cloud Service (G-Cloud) เชื่อมต่อกับโครงสร้างบริการอื่นที่มีอยู่ใน GIN ของ EGA โดยทุกอย่างอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน ทำให้การเชื่อมต่อการทำงานของโปรแกรม ข้อมูล และเครือข่ายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และยังเป็นการให้บริการที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงานภาครัฐได้เป็นอย่างดี
แนวทางผลักดันใหม่ที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ EGA จะผลักดันให้ภาครัฐเองนำระบบ SaaS มาสู่บริการให้แก่ภาคประชาชน รวมถึงการผลักดันให้ภาคราชการยอมเปิดเผยข้อมูล หรือยอมให้ใช้โครงสร้างส่วนกลางบางอย่าง เพื่อให้นักพัฒนาเอกชนได้เข้าถึง จากนั้นนำไปสู่การต่อยอดสร้างแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ให้กับประชาชนได้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นผ่านโทรศัพท์มือถือ เครื่องโน้ตบุ๊คส์ หรือแท็บเล็ต ก็ตาม ซึ่งการผลักดันนี้จะเริ่มเกิดผลในปี 2557 นี้
“บริการสำคัญของ EGA จะแสดงให้เห็นภาพของการวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีและ โทรคมนาคมแก่หน่วยงานรัฐให้ครอบคลุมทุกด้าน รวมถึงตั้งเป้าขยายการให้บริการให้แก่หน่วยงานรัฐเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งจะส่งผลดีในแง่การบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ และลดงบประมาณการลงทุนที่ซ้ำซ้อน” ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด กล่าว
ดร.ทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก เปิดเผยว่า จังหวัดนครนายกได้ดำเนินการจัดทำโครงการจังหวัดอัจฉริยะหรือ Smart Province มา 2 ปีแล้ว และจะยังดำเนินการต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อนำร่องการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็น Smart Country ในการให้บริการของภาครัฐโดยใช้ ICT เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการต่างๆของจังหวัดและภาครัฐได้อย่างเท่าเทียมโดยขณะนี้ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพ ภาคการศึกษา อำเภอ และได้เริ่มติดตั้งและดำเนินการจนใช้งานได้จริงแล้ว ทำให้ประชาชนมีความสะดวกในการใช้บริการที่ต้องติดต่อภาคราชการ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถทำธุรกรรมหรือขั้นตอนทางราชการต่างๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แบบ One Stop Service
“ข้อมูลพื้นฐานที่จะให้บริการเครือข่ายในระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน จนถึงส่วนราชการต่างๆ ในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลางในระดับจังหวัด โดยมีระบบฐานข้อมูล ได้แก่ ระบบทะเบียนราษฎร์ ระบบข้อมูลของส่วนราชการ ระบบภูมิสารสนเทศ โดยสามารถเชื่อมโยงกันด้วยเว็บไซต์ และศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ ทั้งนี้จังหวัดได้ใช้บริการระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภาครัฐ หรือ Government Information Network ของ EGA เพื่อช่วยยกระดับการให้บริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงอุปกรณ์ Smart Box ซึ่งช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐมากขึ้น” ดร.ทวี นริสศิริกุล กล่าว
นายวิเชียร ชิดชนกนารถ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมการปกครองได้อนุญาตให้ส่วนราชการต่าง ๆ เชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรจากฐานข้อมูลทะเบียนกลางจำนวน 103 หน่วยงาน ซึ่งในแต่ละปีจะมีปริมาณการใช้งานจากการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรของกรมการปกครองมากกว่าปีละ 100 ล้านรายการ ซึ่งมีแนวโน้มจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ทางกรมการปกครองยังได้แอพพลิเคชั่นใหม่ๆ อาทิเช่น แอพพลิเคชั่นทางด้านการตรวจสอบความถูกต้องของบัตรประชาชน, การนำบัตรประชาชนอัจฉริยะ หรือ Smart Card ไปใช้ในบริการภาครัฐอื่นๆ, การแสดง Pin Code ที่มีความปลอดภัยสูง เพื่อยืนยันตัวตน และอื่นๆ รวมถึงการนำเสนอภาพในเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกรมการปกครองและหน่วยงานอื่นๆ ในอนาคต
นายณันทพงศ์ เชิดชู ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 กรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ทางกรมการขนส่งได้พัฒนาบริการโดยใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ ภายใต้แนวคิด Smart Service บริการคมนาคมแบบบูรณาการ อาทิเช่น งานทะเบียนและภาษีรถ ซึ่งได้พัฒนากระบวนการการชำระเงินผ่านช่องทางต่าง ไม่ว่าจะเป็น การบริการรับชำระภาษีให้สามารถรับชำระได้ในจุดเดียว การรับชำระภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต การรับชำระภาษีผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส และโครงการพัฒนาการให้บริการด้านทะเบียนรถรูปแบบใหม่การให้บริการ “เลื่อนล้อต่อภาษี” Drive Thru for Tax ชำระภาษีรถ ณ ช่องทางพิเศษโดยไม่ต้องลงจากรถ รวมถึงโครงการออกหน่วยเคลื่อนที่รับชำระภาษีรถประจำปีที่ห้างสรรพสินค้าหรือแหล่งชุมชน “ช็อปให้พอ แล้วต่อภาษี” Shop Thru for Tax รับชำระภาษีรถผ่านห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 13 สาขาที่เปิดให้บริการในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลรามอินทรา และ ศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค ศรีนครินทร์ด้วย เพื่อสามารถอำนวยความสะดวกประชาชนชำระภาษีได้ในวันหยุด
ทั้งนี้ทางกรมฯ ได้นำเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนการทำงาน งานบริการ และระบบการขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้นโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้รับบริการเป็นสำคัญ ในการพัฒนาให้เป็นระบบ e-Service พร้อมสร้างช่องทางการให้บริการเพื่อลดเวลาในการติดต่อกับกรมฯ และสามารถเชื่อมโยงระบบงานฐานข้อมูลสำคัญ ระหว่างภาครัฐกับภาครัฐ และภาครัฐกับภาคเอกชน รวมถึงการพัฒนาศูนย์ข้อมูลสถิติภาพรวมของกรมฯ (Integrated Database) เพื่อสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลมากยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบงานของกรมฯ ในการสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้รับความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ โดยทุกส่วนงานนั้นสอดรับกับแผนการพัฒนาและผลักดัน e-Government ของประเทศไทย