เมื่อลูกเหินห่างเข้าสู่วัยรุ่น คุณพ่อคุณแม่จะทำอย่างไรพูดอะไรก็ผิดไปหมด

ข่าวทั่วไป Monday November 25, 2013 14:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--โฟร์ฮันเดรท “พอเป็นวัยรุ่น ก็ลืมพ่อแม่ พ่อแม่พูดอะไรก็ผิดไปหมด ติดเพื่อน วันๆเก็บตัวเองอยู่แต่ในห้อง คุยโทรศัพท์กับเพื่อนทั้งวันเลย" นี่คือเสียงความรู้สึกที่ผู้ปกครองหลายท่านได้ระบายออกมาเมื่อพูดถึงเรื่องสัมพันธภาพในครอบครัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเหินห่าง ความน้อยใจแกมอิจฉาเล็กๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติอย่างไร แต่ท่าทีของผู้ปกครองเองเมื่อเกิดความรู้สึกเหล่านี้ต่างหากจะเป็นตัวกำหนดว่า สถานะการณ์จะดีขึ้นหรือไม่ นายกิตติศักดิ์ รักษาชาติ นักจิตวิทยาคลินิก และนักจิตวิทยาให้การปรึกษาประจำ โรงเรียสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า วัยรุ่นมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมากมายโดยเฉพาะฮอร์โมนเพศ ซึ่งจะส่งผลให้วัยรุ่นมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายและรวดเร็ว หงุดหงิด วู่วาม แปรปรวน โดยเฉพาะในผู้หญิงและมีอารมณ์ฉุนเฉียว ก้าวร้าวได้ในเด็กชาย นอกจากนี้วัยรุ่นยังต้องรับมือกับความวิตกกังวลที่ตนเองกำลังจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่จะต้องมีความรับผิดชอบซึ่งทำให้วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยรู้สึกกลัวการที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ ในขณะที่มีความต้องการเป็นอิสระและยังอยากแสดงออกตามใจแบบเด็ก แต่ในขณะเดียวกันวัยรุ่นก็อยากจะหลุดพ้นจากอิทธิพลของพ่อแม่ในฐานะผู้ใหญ่ ความรู้สึกขัดแย้งในความเป็นและไม่อยากเป็นนี้ทำให้วัยรุ่นเกิดความวิตกกังวล และทะเลาะกับทั้งตัวเองและผู้ปกครองอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นต้นเหตุของความว้าวุ่นใจไม่อารมณ์ไม่สงบ ดังนั้น วัยรุ่นจึงมักเก็บตัวเพื่อปรับอารมณ์ ปรับความคิดของตน วัยนี้เป็นวัยที่ต้องการความเป็นส่วนตัว และมักจะแสดงออกโดยการเก็บตัวอยู่ในห้อง บางคนถึงกับล๊อกห้อง ลิ้นชัก ตู้เก็บของเมื่อไม่อยู่บ้าน และจะอารมณ์เสียมากเมื่อมีคนไปเปิดโดยไม่ได้รับอนุญาติ หากพ่อแม่ฝืนกฎเหล็กนี้ก็อาจำทำให้เสียความไว้วางใจ และเกิดความเหินห่างมากขึ้นการหยิบยื่นความช่วยเหลืออาจถูกปฎิเสธเพราะเขาต้องการพิสูจน์ว่า เขาโตแล้ว พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือเขาเหมือนเด็กๆ ผู้ปกครองอาจปล่อยให้เขาได้ทำอะไรๆด้วยตนเอง ให้กำลังใจเป็นระยะ เขามักจะหงุดหงิดอย่างมาก หากว่าผู้ปกครองช่วยเขาแก้ปัญหาในรูปแบบเหมือนเด็กๆ แม้วัยรุ่นจะต้องการเป็นตัวของตัวเองและติดอยู่กับเพื่อนจนทำให้พ่อแม่ต้องน้อยใจ แต่มั่นใจเถอะว่าเขายังต้องการพ่อแม่อยู่มาก การให้เกียรติเหมือนกับที่ผู้ปกครองให้เกียรติเพื่อนสนิท การให้กำลังใจเหมือนกับที่ให้กับเพื่อนร่วมงาน การสนับสนุนให้มีความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความรับผิดชอบ ชื่นชมเมื่อเขาสามารถทำได้ จะช่วยให้สัมพันธภาพของลูกและพ่อแม่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงของช่วงชีวิตวัยรุ่นดีขึ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : คุณขวัญ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต โทร. 02-7927514 อีเมล์ kannika.k@sbs.ac.th คุณสิทธิกร เสงี่ยมโปร่ง ที่ปรึกษาฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท โฟร์ฮันเดรท จำกัด โทร.0-2553-3161-3 Email : sitikorn@4h.co.th
แท็ก ครอบครัว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ