กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--วท.
ฝ่ายพัฒนาสมบัติของวัสดุ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) รับใบรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการ ตามมาตรฐาน มอก.1300-2537 (ISO/IEC Guide 25) จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
ดร.ลดาวัลย์ โชติมงคล รองผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า ห้องปฏิบัติการของฝ่ายพัฒนาสมบัติของวัสดุที่ได้รับการรรับรองมาตรฐานในครั้งนี้ นับเป็นหน่วยงานที่ 3 ของ วท. ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC Guide 25 ก่อนหน้านี้ วท. เคยได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าวมาแล้ว 2 ห้องปฏิบัติการ คือ ด้านเคมีวิเคราะห์ และด้านมาตรฐานทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การได้รับมาตรฐานครั้งนี้จะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการวิเคราะห์ /ทดสอบจาก วท. มากยิ่งขึ้น อันจะเป็นผลต่อเนื่องถึงการมีศักยภาพด้านการส่งออก สามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ดีอย่างยิ่งด้วย ในการนี้ วท. จะเข้ารับใบรับรองความสามารถจากเลขาธิการสมอ.ในวันที่ 19 กันยายนนี้
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสมบัติของวัสดุ ชี้แจงว่า ห้องปฏิบัติการของฝ่ายพัฒนาสมบัติของวัสดุ (Material Properties Analysis And Development Centre) หรือ MPAD ที่ได้รับการรับรองทั้งสองฝ่ายในครั้งนี้ประกอบด้วย 5 ห้องปฏิบัติการ ได้แก่ หป.วิเคราะห์ทดสอบทางสากล หป.วิเคราะห์สมบัติทางเคมีและกายภาพวัสดุ หป.วิเคราะห์ตรวจสอบลักษณะโครงสร้างและส่วนผสมของวัสดุ หป.วิเคราะห์และตรวจสอบความเสียหายหรือสภาพการใช้งานของวัสดุ หป.วิเคราะห์และตรวจสอบแบบไม่ทำลาย ซึ่งห้องปฏิบัติการดังกล่าวนี้ มีเครื่องมือและอุปกร์ที่ได้มาตรฐานเพื่อการวิเคราะห์สมบัติทางเคมีและกายภาพของวัสดุ โดยปัจจุบันห้องปฏิบัติการทั้ง 5 ได้ให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบครอบคลุมในส่วนของวัสดุทั้งหมด โดยเฉพาะโลหะ และคาดว่าในปี 2541 MPAD จะได้งบประมาณในการจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทดสอบวิเคราะห์ที่ทันสมัยเพิ่มเติม ทั้งนี้เพื่อรองรับการขยายงานในส่วนต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการของศูนย์ที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน
การได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการของห้องปฏิบัติการ MPAD ภายใต้มาตรฐานตามข้อกำหนดของคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการยอมรับของผู้ใช้บริการ ทั้งภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม ที่สามารถมั่นใจได้ว่าผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการดังกล่าวของ วท. นี้ได้มาตรฐานสากล ส่งผลให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันในผลการสอบเทียบและผลการทดสอบระหว่างประเทศ ทั้งนี้ยังช่วยขจัดปัญหาทางวิชาการในการกีดกันทางการค้า และยังช่วยให้เกิดความความร่วมมือกันระหว่างห้องปฏิบัติการและหน่วยงานอื่นๆ ในการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศ ประสบการณ์ การปรับมาตรฐานและวิธีการดำเนินการเข้าหากัน นอกจากนั้น ยังทำให้เกิดความมั่นใจในศักยภาพของบุคลากรที่ดำเนินการภายใต้ระบบควบคุมคุณภาพและระบบตรวจติดตามคุณภาพอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ผอ. ฝ่ายพัฒนาสมัติของวัสดุกล่าวในที่สุด
สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิมเติมได้ที่ วท. โทร.579-1121-30, 579-5515, 579-0160, 579-8533 โทรสาร 579-8533--จบ--