กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
สช. เตรียมประกาศรางวัลสมัชชาอวอร์ดปีที่ ๒ เบื้องต้นคัดเลือก ๓ จังหวัด ๓ พื้นที่ และ ๓ กรณี โดดเด่นที่ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ก่อนคัดเลือกรอบสุดท้ายเหลือ ๓ พื้นที่ พร้อมมอบรางวัลเพื่อเป็นเกียรติประวัติในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ วันที่ ๑๘-๒๐ ธันวาคมนี้
นายมานิจ สุขสมจิตร กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการรางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๖ เปิดเผยว่า รางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติหรือ “สมัชชาอะวอร์ด” ประจำปีนี้ เป็นการจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ ๒ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ภาคีเครือข่าย ที่มุ่งมั่นนำกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ไปดำเนินการในพื้นที่และประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ รางวัลสมัชชาอะวอร์ด แบ่งเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ ๑. “รางวัล ๑ จังหวัด” เป็นรางวัลที่มอบให้กับจังหวัดที่มีการใช้ “กระบวนการสมัชชาสุขภาพ” ในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม มาอย่างต่อเนื่อง ๒. “รางวัล ๑ พื้นที่” เป็นรางวัลที่มอบให้พื้นที่ที่ใช้ “ธรรมนูญสุขภาพ” ในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม และ ๓. “รางวัล ๑ กรณี” เป็นรางวัลที่มอบให้กับกรณีในระดับหมู่บ้านที่มีการใช้เครื่องมือ “เอชไอเอ” (การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ Health Impact Assessment: HIA) ในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่ดี
ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการฯ ได้ประมวลข้อมูลจากเอกสารและข้อเสนอจากบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาคัดเลือกให้เหลือประเภทละ ๓ แห่ง และหลังจากนี้จะลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน อีกทั้งเพื่อพิจารณาข้อมูลจากพื้นที่โดยตรง สำหรับพื้นที่ที่คณะอนุกรรมการจะลงไปร่วมเรียนรู้ มีดังนี้ รางวัล ๑ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน , อุบลราชธานี และปัตตานี รางวัล ๑ พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ของ อ.สูงเม่น จ.แพร่ , ต.ริมปิง อ.เมือง จ.ลำพูน และ ต.เปือย อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ ส่วนรางวัล ๑ กรณี ได้แก่ กรณีโรงไฟฟ้าชีวมวล กรณีการสร้างท่าเรือน้ำลึกและการพัฒนาอุตสาหกรรม อ.ปราสาท อ.เมือง จ.สุรินทร์ และกรณีการสร้างท่าเรือน้ำลึก อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช และ อ.จะนะ จ.สงขลา
นายมานิจ กล่าวว่า รางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นรางวัลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องเชิดชูภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้วยความเสียสละ และยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับภาคีเครือข่ายที่กำลังขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม (Participatory Healthy Public Policy : PHPP) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในขณะนี้ อันจะนำไปสู่การขยายผล ต่อยอด ความสำเร็จยังพื้นที่อื่นๆต่อไป