กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เดินหน้าตามแผน เร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ส่งผลความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น เงินฝากไหลเข้า รายได้กลับสู่ปกติ ล่าสุดผลการดำเนินงานดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินฝาก Ibank Big 4 ปันผลตอบแทนเกินกว่าที่ธนาคารคาดการณ์ไว้ก่อนเริ่มโครงการ
ดร.ครรชิต สิงห์สุวรรณ์ เปิดเผยว่า “หลังจากที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการธนาคาร ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้จัดการฯ ได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPFs) โดยยึดหลักชะรีอะฮ์อย่างเคร่งครัด ซึ่งธนาคารสามารถแก้ไขได้เกินกว่าเป้าหมายของแผนฟื้นฟูฯที่กระทรวงการคลังอนุมัติ จากเดือนมิ.ย.2556 ตัวเลขหนี้ ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 4.3 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันได้อนุมัติแก้ไขไปแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท และยังได้เร่งแก้ไขปัญหาด้านสภาพคล่องโดยรวม (Total Liquidity) ให้กลับมาอยู่ในระดับดีขึ้น ทั้งนี้ เกิดจากพี่น้องประชาชนเริ่มเข้าใจสถานการณ์ที่ดีขึ้นของธนาคาร กอรปกับมีความเชื่อมั่นในสถานะของธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง
โดยหนึ่งในตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นว่า ผลประกอบการของธนาคารดีขึ้น สามารถดูได้จากผลตอบแทนเงินฝากที่ธนาคารจ่ายให้ลูกค้าเกินกว่าที่ธนาคารคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะผลตอบแทนเงินฝากเพื่อการลงทุน (ตามหลักมุฎอเราะห์บะฮ์) ซึ่งการบริหารเงินฝากตามหลักการดังกล่าว จะมีการประกาศสัดส่วนการแบ่งผลตอบแทนระหว่างลูกค้าและธนาคาร รวมถึงอัตราผลตอบแทนที่คาดการณ์ว่าจะได้รับไว้ล่วงหน้า ซึ่งหากผลประกอบการจริงสูงกว่าที่ธนาคารคาดการณ์ไว้ ตามหลักชะรีอะฮ์ ธนาคารจะต้องจ่ายผลตอบแทนแก่ลูกค้าตามที่คำนวณได้จริง แม้จะสูงกว่าอัตราผลตอบแทนที่เคยแจ้งให้ลูกค้าทราบก็ตาม ดังนั้น ผลิตภัณฑ์เงินฝากล่าสุดอย่าง ibank big 4 ที่ทำตลาดไปเมื่อเดือน ต.ค จึงมีอัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ดังนี้
ระยะเวลาการฝาก สัดส่วน อัตราผลตอบแทน อัตราผลตอบแทน ส่วนต่าง
(ลูกค้า:ธนาคาร) ที่คาดว่าจะได้รับต่อปี สำหรับผู้ครบกำหนดฝาก
(คำนวนเมื่อช่วง ส.ค. 2556) ในวันที่ 16 พ.ย.-15 ธ.ค. 2556
4 เดือน 59:41 3.10% 3.450% (เพิ่มขึ้น 0.35%)
7เดือน 63:37 3.35% 3.506% (เพิ่มขึ้น 0.156%)
12 เดือน 65:35 3.60% 3.617% (เพิ่มขึ้น 0.017%)
24 เดือน 67:33 3.75% 3.750% -
(ตามบัญชีโครงการเงินรับฝากประจำ “ibank big 4”)
ดร.ครรชิต สิงห์สุวรรณ์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “จุดนี้จึงเป็นลักษณะเด่นในการบริหารเงินฝากของธนาคารอิสลาม ที่ดำเนินงานภายใต้หลักชะรีอะฮ์ โดยธนาคารและลูกค้าเปรียบเสมือนหุ้นส่วนที่แบ่งปันผลกำไรร่วมกัน หากผลประกอบการ ดีขึ้น หุ้นส่วนก็จะได้รับผลตอบแทนมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งแตกต่างจากระบบดอกเบี้ยโดยสิ้นเชิง ที่ลูกค้าจะได้รับอัตราดอกเบี้ยตามที่กำหนด (Fixed) ตายตัว แม้ว่าธนาคารจะมีผลประกอบการดีขึ้นเพียงใดก็ตาม”
ข้อมูลข่าวประชาสัมพันธ์ โดย ฝ่ายสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร
โทร. 0-2650-6999 ต่อ 6915, 6023, 2228, 2480 แฟ็กซ์ 0-2204-2765