กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--ไอแอมพีอาร์
ปัญหาเรื้อรังสำคัญขององค์กรธุรกิจประเภทต่างๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่มีมายาวนานทุกองค์กรคือ เรื่องพนักงาน ทั้งการสรรหาทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถและศักยภาพเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่ได้รับมอบหมาย และการลาออกของพนักงาน เป็นผลให้องค์กรไม่สามารถขับเคลื่อนสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้พลาดโอกาสในการแข่งขัน และยังทำให้ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้นด้วย
แพทย์หญิงจันทิมา องค์โฆษิต ไกรฤกษ์ ประธานกรรมการโรงพยาบาลมนารมย์ผู้ริเริ่มพัฒนา แบบทดสอบจิตวิทยาเพื่อการบริหาร กล่าวว่า สืบเนื่องจากโรงพยาบาลมนารมย์เป็นโรงพยาบาลเอกชนด้านสุขภาพจิตแห่งแรกของประเทศไทย การก่อตั้งโรงพยาบาลจึงมีความพิถีพิถันและวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบทุกแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านทรัพยากรบุคคลมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะงานของโรงพยาบาลคือการให้บริการแก่ผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิต นอกจากคุณสมบัติและความสามารถเหมาะสมแล้ว ยังต้องมีความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ อีกทั้งทัศนคติและบุคลิกภาพก็เป็นส่วนสำคัญในการคัดเลือกพนักงาน เนื่องจากคนคือต้นทุนที่มีค่า การลาออกของพนักงาน 1 คน สามารถสร้างความสูญเสียได้มากมาย จึงได้ทำการพัฒนา “แบบทดสอบจิตวิทยาเพื่อการบริหาร” ขึ้น สำหรับคัดเลือกบุคลากรที่สามารถรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย และมีบุคลิกภาพที่เหมาะสมกับงานและวัฒนธรรมองค์กร เพื่อลดปัญหาพนักงานลาออกบ่อย ซึ่งจะช่วยให้องค์กรเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดต้นทุน และช่วยให้พนักงานได้ทำงานอย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น
“บุคลิกภาพและทัศนคติเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากการสัมภาษณ์พูดคุย จึงคิดว่าควรนำแบบทดสอบจิตวิทยาฯ มาใช้พิจารณาคัดเลือกบุคลากร แทนการพิจารณาจากคุณสมบัติด้านการศึกษาเพียงอย่างเดียว ซึ่งโจทย์ของการออกแบบแบบทดสอบจิตวิทยาฯ ได้คำนึงถึงปัจจัยสำคัญ คือ 1.สมรรถภาพในการทำงานขั้นพื้นฐาน 2.ความสามารถด้านการเรียนรู้และเชาว์ปัญญา 3.บุคลิกภาพ เพราะการเริ่มต้นดำเนินงานในช่วงแรกจำเป็นต้องมีบุคลากรที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่และพร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาใหม่ๆ ได้ อีกทั้งบุคลิกภาพต้องเหมาะสมคือ มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สามารถเข้ากับผู้อื่นได้ดี มีความอบอุ่น เพราะงานหลักของโรงพยาบาลมนารมย์คืองานบริการ” แพทย์หญิงจันทิมากล่าว
แบบทดสอบสมรรถภาพในการทำงานขั้นพื้นฐาน เป็นการทดสอบเบื้องต้นที่รวดเร็ว และนำมาใช้ในการคัดกรองพนักงานที่สมัครงาน เพื่อวัดความสามารถในการฟัง การสังเกต การคิดอย่างมีเหตุผล และความสามารถในการทำตามคำสั่งของผู้รับการทดสอบ ผู้สมัครที่ผ่านการคัดกรองแล้วจึงจะเขารับการสัมภาษณ์ เมื่อผ่านการสัมภาษณ์แล้วจึงให้ทำแบบทดสอบจิตวิทยาด้านการเรียนรู้ เชาวน์ปัญญา และบุคลิกภาพเป็นลำดับต่อไป
“แบบทดสอบสมรรถภาพในการทำงานขั้นพื้นฐาน ช่วยให้คัดผู้ที่คุณสมบัติไม่ตรงออกไปได้ถึร้อยละ 30 สามารถใช้ทดสอบได้ทุกตำแหน่ง ทำให้การสรรหาทรัพยากรบุคคลสามารถทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะหากเลือกผู้ที่ไม่เหมาะสมเข้ามาปฏิบ้ติงานเป็นการสร้างความเสียหายหลายด้าน ทั้งเวลาและงบประมาณในการฝึกฝน อีกทั้งหากผู้นั้นมีทัศนคติที่ไม่ดี ก็อาจใช้คำพูดหรือพฤติกรรมสร้างความไม่สบายใจให้แก่เพื่อนร่วมงาน และเมื่อลาออกไปก็จะเกิดปัญหากับพนักงานคนอื่นๆ ที่ต้องรับภาระงานหนักขึ้น” แพทย์หญิงจันทิมากล่าว
แบบทดสอบความสามารถทางด้านการเรียนรู้และเชาว์ปัญญา (Cognitive Ability Test) ใช้เวลา 20 นาที โดยจะประเมินความรู้ ความสามารถ สติปัญญา และ 8 องค์ประกอบต่าง ๆ ของเชาว์ปัญญา ที่ทางมนารมย์แยกศึกษาไว้ รวมทั้งความสามารถในการแก้ไขปัญหาของผู้รับการทดสอบ โดยแบบทดสอบชุดนี้เป็นการประเมินที่เที่ยงตรง เชื่อถือได้ และมีประสิทธิภาพโดยไม่ถูกจำกัดด้วยระดับการศึกษา เชื้อชาติ และวัฒนธรรม เพื่อเลือกหาพนักงานระดับเชาว์ปัญญาและองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับลักษณะงาน
แบบทดสอบบุคลิกภาพ (Personality Test) ใช้เวลา 30 — 40 นาที โดยจะประเมินบุคลิกภาพที่มีความสัมพันธ์ต่อความสำเร็จในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งระดับบริหาร ซึ่งจะมีการประเมินเชิงลึกมากยิ่งขึ้นถึงความเป็นผู้นำและสภาวะทางจิตใจ อารมณ์ แนวคิด กระบวนการแก้ไขปัญหาและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งผลจากการทำแบบทดสอบจะช่วยในการตัดสินใจมอบหมายตำแหน่งหน้าที่งานได้อย่างเหมาะสม
แพทย์หญิงจันทิมา อธิบายเพิ่มเติมว่า การใช้แบบทดสอบจิตวิทยาฯ ช่วยคัดเลือกบุคลากรประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ตลอด 7 ปีของการเปิดให้บริการโรงพยาบาลและการใช้แบบทดสอบด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถคัดสรรพนักงานที่เหมาะสม ลดปัญหาพนักงานลาออกบ่อย อีกทั้งพนักงานยังมีความรักองค์กรเป็นอย่างมาก เนื่องจากได้รับการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพตามความเหมาะสม เพราะแบบทดสอบจิตวิทยาฯ สามารถระบุถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของแต่ละบุคคลได้อย่างแม่นยำ
“ประโยชน์ของการทำแบบทดสอบจิตวิทยาฯ สามารถชี้ชัดได้ว่าบุคลากรมีความสามารถด้านการเรียนรู้ เชาว์ปัญญาและบุคลิกภาพเป็นอย่างไร องค์กรจึงสามารถเลือกคนที่เหมาะสมและช่วยเสริมศักยภาพให้ได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถเติบโตไปสู่ระดับที่สูงขึ้นได้ เป็นการสร้างความภักดีต่อองค์กร และเกิดพลังใจที่จะต่อสู้ไปกับองค์กรทั้งในยามเศรษฐกิจเฟื่องฟูหรือตกต่ำ” แพทย์หญิงจันทิมากล่าวสรุป
จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น โรงพยาบาลฯ จึงได้พัฒนาแบบทดสอบจิตวิทยาเพื่อให้บริการแก่องค์กรภายนอก โดยปัจจุบันแบบทดสอบ จิตวิทยาฯ ทั้ง 3 แบบของโรงพยาบาลมนารมย์ ได้พัฒนาต่อยอดให้อยู่ในรูป ศูนย์ทดสอบจิตวิทยาเพื่อการบริหาร สามารถทำได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งนอกจากจะมีความรวดเร็วและแม่นยำในการวิเคราะห์ผล ผู้ใช้บริการยังสามารถมั่นใจได้ว่าผลการวิเคราะห์มีความเชื่อมโยงกับบุคลิกภาพ ความรู้ ความคิดและทัศนคติที่แท้จริงของผู้ทดสอบ โดยที่ผู้ทดสอบไม่สามารถหลอกลวงหรือสร้างภาพด้วยการเลือกแต่คำตอบดีๆ ได้ เพราะการทดสอบจิตวิทยาของมนารมย์ได้ผ่านการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และสถิติวิเคราะห์ความเที่ยงตรง และแม่นยำ มีประสิทธิภาพกว่าการใช้ความรู้สึกของมนุษย์สัมผัสและการตัดสินใจอย่างไม่มีตัวช่วย.