กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์
TCELS ผนึกสัมพันธ์กับ มาเลเซีย เตรียมลงนามความร่วมมือ ด้านยา-วัคซีน และเครื่องมือแพทย์ เร็ว ๆ นี้ เผย Bioeconomy มาแรง “เสือเหลือง” ประกาศ เป็นนโยบายหลักของชาติ มั่นใจพลิกประเทศมั่งคั่งได้ภายในปี 2020 ขณะที่ ผอ.TCELS เดินหน้า ตามยุทธศาสตร์ประเทศ ตั้งเป้าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางชีววิทยาศาสตร์ของภูมิภาค
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ TCELS ได้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ BioMalaysia 2013 ที่เมืองยะโฮบารู ประเทศมาเลเซีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือและนำเสนอผลงานด้านชีววิทยาศาสตร์ในระดับภูมิภาค โดยมีนายสมชาย เทียมบุญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาศตร์ฯ ในฐานะกรรมการบริหารของ TCELS ร่วมเดินทางไปในครั้งนี้ด้วย
ดร.นเรศ กล่าวว่า BioMalaysia เป็นการรวมตัวกันของผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านไบโอเทคโนโลยี เพื่อเป็นศูนย์กลางของเอเชียแปซิฟิคในการสร้างเครือข่าย Bioeconomy โดยในปีนี้การจัดงานแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนของการประชุมวิชาการ และการจัดนิทรรศการของประเทศต่าง ๆ กว่า 10 ประเทศ ซึ่ง TCELS ในนามตัวแทนประเทศไทย ได้นำเสนอนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ ประกอบไปด้วย โครงการสารสกัดจากน้ำยางพารา โครงการเซลล์และยีนบำบัด โดยมีผู้สนใจซึ่งส่วนใหญ่เป็น นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุนชาวมาเลเซียแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อความร่วมมือในอนาคต
ผอ.TCELS กล่าวถึงความสำเร็จของการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ว่า ได้เกิดความร่วมมือกันระหว่าง TCELS กับ BiotechCorp ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นภายใต้การถือหุ้นของ กระทรวงการคลัง กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม และ กรรมาธิการที่ดินกลาง ของมาเลเซีย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเอ็มโอยูความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ รวมถึง ความร่วมมือในด้านการพัฒนาวัคซีน เครื่องมือแพทย์ การทดสอบก่อนคลินิกและคลินิกไปจนถึงการพัฒนาบุคลากร นอกจากนี้ยังเสนอให้จัดการจับคู่ธุรกิจระหว่างบริษัทที่อยู่ในเครือข่ายของไทยและมาเลเซีย โดยอาจสลับเป็นเจ้าภาพจัดปีละครั้ง นอกจากนี้ BiotechCorp ยังได้เสนอความร่วมมือสาขาอื่นๆ ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ อาทิ BioFuel ซึ่งสามารถขยายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้ อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ดร.นเรศ ยอมรับว่า การสร้างฐานเศรษฐกิจเทคโนโลยีชีวภาพของมาเลเซียเข้มแข็งมาก เนื่องจากรัฐบาลให้การสนับสนุนทั้งระบบเป็นนโยบายที่ชัดเจน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายของมาเลเซียสู่นโยบายด้าน Bioeconomyนั้น มุ่งหวังจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) สูงถึง 3.6 พันล้านริงกิต สร้างงานได้ 16,300 ตำแหน่ง และมีการลงทุน 10.6 พันล้านริงกิตได้ภายในปี 2020 สำหรับนโยบายดังกล่าว องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD คาดหมายว่าในปี 2030 ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ จะมีสัดส่วนเป็น 2.7% ของ GDP ทั้งโลก อย่างไรก็ตามในส่วนของประเทศไทย TCELS มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะเป็นศูนย์กลางด้านชีววิทยาศาสตร์ของภูมิภาคนี้ ตามยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยอาศัยจุดเด่นของไทยที่เป็นที่ยอมรับ เช่น คุณภาพบุคลากรทางวิชาการ การบริการทางการแพทย์ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ โดยเฉพาะหุ่นยนต์ทางการแพทย์ และเทคโนโลยีด้านเซลล์บำบัดซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ประเทศ