"กรมศุลฯ" ยกเว้นภาษีเครื่องจักรในโรงผลิตสินค้า

ข่าวทั่วไป Thursday April 2, 1998 11:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--2 เม.ย.--กรมศุลกากร
กรมศุลกากร ยกเว้นอากรเครื่องจักรในคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออก โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2541 พร้อมโอนให้บีโอไอเป็นผู้ดูแลต่อไป เผยหากผู้ประกอบการผลิตและขายสินค้าในประเทศจะต้องเสียภาษีวัตถุดิบนำเข้า โดยบีโอไอจะแจ้งให้กรมศุลกากรทราบ อธิบดีกรมศุลกากร เตรียมแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อประสานงานร่วมกันเพื่อป้องกันปัญหา ใบขนสินค้าสูญหาย
นายสมใจนึก เองตระกูล อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยถึงแนวทางการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อช่วยเหลือผู้ลงทุนว่า กรมศุลกากรได้เสนอกระทรวงการคลังพิจารณายกเว้นอากรเครื่องจักรที่นำมาติดตั้งในคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า เพื่อเป็นการช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการระดับกลางและรายย่อยได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะมีผลประกอบการระดับกลางและรายย่อยได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2541 ตามประกาศกระทรวงการคลังที่ 5/2541 นอกจากนี้กรมศุลกากรได้แก้ไขหลักเกณฑ์การโอนสินค้าจากคลังทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าให้ไปอยู่ภายใต้การควบคุมของบีโอไอเพื่อเป็นการลดปัญหาความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน
สำหรับข้อเสนอของบีโอไอต้องการโอนสิทธิผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการโรงผลิตสินค้ารวมทั้งโอนวัตถุดิบหรือสินค้าด้วยนั้น กรมศุลกากรมีระเบียบให้ใช้ใบโอนสินค้าไปมาระหว่างกันได้อยู่แล้ว ส่วนบริษัทที่ได้รับการยกเว้นอากรตามเงื่อนไขบีโอไอ แต่ผลิตสินค้าบางส่วนขายในประเทศจะต้องเสียภาษีวัตถุดิบ โดยทางบีโอไอเป็นผู้พิจารณาและแจ้งชนิดสินค้ารวมทั้งราคาขายให้กรมศุลกากรเพื่อคำนวนภาษีอากรต่อไป
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า การเรียกเก็บภาษีกรณีเพิกถอนสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนและการแจ้งสิทธิยกเว้นหรือลดหย่อนอากรของบีโอไอ ขณะนี้มีใบขนสินค้าค้างการพิจารณาจากบีโอไอจำนวน 1,329 ฉบับ ประมาณ 741 ล้านบาท นอกจากนี้ใบขนที่ค้างและเกิดการสูญหายหรือเลิกกิจการก็ไม่สามารถดำเนินคดีได้ ซึ่งระเบียบกระทรวงการคลังนั้นจะต้องสอบหาผู้รับผิดทางแพ่ง ดังนั้นจึงเห็นควรจัดตั้งเจ้าหน้าที่ประสานงานร่วมกัน (POINT OF CONTACT) เพื่อให้การผ่านวิธีการศุลกากรสะดวกและถูกต้องยิ่งขึ้น นอกจากนี้การเรียกเก็บภาษีของที่นำเข้าตามมาตรา 19 ทวิ ไปใช้สิทธิส่งเสริมการลงทุน หากไม่ส่งออกภายใน 1 ปี จะต้องเสียภาษี ซึ่งทางบีโอไอจะต้องขอความเห็นจากกรมศุลกากรก่อนทุกครั้ง
"บีโอไอ ได้เสนอความเห็นว่าหากกรมศุลกากรเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมงได้จะทำให้เกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้กรมศุลกากรได้เคยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงมาแล้ว ตามแนวนโยบายของรัฐบาลเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาจราจร แต่เนื่องจากมีผู้ใช้บริการน้อยมากทางท่าเรือกรุงเทพจึงขอยกเลิก แต่ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง" อธิบดีกรมศุลกากรกล่าว--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ