กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
สสว. เผยผลสัมฤทธิ์หลักสูตรอบรมนักบริหาร SMEs ระดับสูง (SMEs Advance) สามารถเติมเต็มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ SMEs และเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งผู้ประกอบการ SMEs ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชน รวม 245 ราย ให้ร่วมเป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาโครงสร้าง SMEs ไทยแข็งแกร่งสู่สากล
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนักบริหาร SMEs ระดับสูง (SMEs Advance) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดำเนินการอบรมหลักสูตรนักบริหาร SMEs ระดับสูง (SMEs Advance) ภายใต้โครงการยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจ SMEs ขึ้น เนื่องจาก SMEs ซึ่งมีจำนวน 2.74 ล้านราย ยังคงประสบปัญหาด้านการบริหารจัดการหลายๆ ด้าน ดังนั้นเพื่อเป็นการลดปัญหาดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สสว. จึงได้ดำเนินกิจกรรมการเพิ่มองค์ความรู้และพัฒนาทักษะการบริหารจัดการ เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถปรับตัวเข้าสู่การแข่งขันภายในบริบทใหม่ของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการค้าของโลก โดยเฉพาะการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ในสิ้นเดือนธันวาคม 2558 นี้
“ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร SMEs Advance ครั้งนี้ มีจำนวน 245 คน มีทั้งผู้ประกอบการ SMEs ผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชน ที่ได้รับการเติมเต็มความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการ ผ่านหลักสูตรการอบรมในทุกเนื้อหาวิชา รวมทั้งการร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เข้าร่วมอบรม การศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ การรวมกลุ่มทำ Business Plan ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ดังกล่าว จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งเกิดเครือข่ายความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างผู้เข้าร่วมอบรม ซึ่งเป็นการสร้างความพร้อมที่จะเข้าสู่สนามการค้าเสรีระดับนานาชาติ หรือ Internationalization สามารถแข่งขันได้กับตลาดทั้งภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะพยายามดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SMEs ในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
นายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า จากการที่ สสว. ได้จัดการอบรมหลักสูตรนักบริหาร SMEs ระดับสูง ภายใต้โครงการยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจ SMEs โดยความร่วมมือกับศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะความรู้ในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดแผนการพัฒนาและส่งเสริม SMEs ในกลุ่มธุรกิจต่างๆ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือและการต่อยอดทางธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยมีผู้ได้รับคัดเลือกเข้ารับการอบรมรวมทั้งสิ้น 245 คน ประกอบด้วย ผู้ประกอบการ SMEs ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่มีบทบาทในการส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ทั้งนี้ การอบรมแบ่งออกเป็น 2 รุ่น รุ่นที่ 1 จำนวน 117 คน และรุ่นที่ 2 จำนวน 128 คน ซึ่งดำเนินการในช่วงระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม - 16 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา
สำหรับ ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมอบรม มาจากหลากหลายธุรกิจ ทั้งในภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ ในส่วนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมศุลกากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กรมประชาสัมพันธ์ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อุตสาหกรรมจังหวัด ศูนย์บ่มเพาะของสถาบันการศึกษา และผู้แทนจากหอการค้าจังหวัด
ในส่วนหลักสูตรการอบรม ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ครอบคลุมเนื้อหาภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ได้แก่ 1.Strengthen Knowledge การเสริมความรู้ทางธุรกิจ เป็นการอบรมเชิงวิชาการเกี่ยวกับกลยุทธ์การบริหารจัดการ (Strategic Business Management) และการบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) 2.Getting Inspired การเปิดโลกทัศน์และสร้างแรงบันดาลใจ จะเป็นการรับฟังแนวคิดและประสบการณ์จากผู้ประกอบการ หรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในแวดวงธุรกิจ 3.Going Regional เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะทางธุรกิจ เช่น การวิจัยทางธุรกิจ การค้นคว้าอิสระ รวมทั้งกิจกรรมการสร้างเครือข่ายธุรกิจ workshop และการศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ
โดยในส่วนกิจกรรม workshop ผู้เข้าอบรมได้ร่วมกันจัดทำผลงานทางวิชาการเป็นแผนธุรกิจ ด้วยการนำองค์ความรู้จากการอบรม มาประยุกต์เพื่อสร้างเป็นแผนธุรกิจใหม่จำนวน 46 แผนธุรกิจ ซึ่งคัดเลือกรอบสุดท้ายเหลือ 4 แผนธุรกิจ เพื่อเข้าชิงรางวัลสุดยอดแผนธุรกิจ หรือ SMEs Advance Business Plan Champion 2013 ที่จะมีการประกาศผลในครั้งนี้
“กิจกรรม SMEs Advance นี้ นอกจากจะเป็นการพัฒนาความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ก่อให้เกิดเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน ผู้ประกอบการกับผู้แทนหน่วยงานภาครัฐแล้ว ยังเป็นการจุดประกายความคิดให้เกิดการรวมกลุ่มกันจัดตั้งสมาคม SMEs ขึ้น เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SMEs ของประเทศ และยังทำให้ภาคราชการ ได้ทราบถึงปัญหาความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้ได้แนวคิดในการพัฒนา สามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการส่งเสริมช่วยเหลือภาคธุรกิจ SMEs ได้อย่างตรงจุด ในทางกลับกันภาคธุรกิจ SMEs ก็มีความเข้าใจในการขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินกิจการต่อไป” ผอ.สสว. กล่าว