กระทรวงเกษตรส่งคณะเจรจากับอินโด เผยอินโดนีเซียยกเลิกระบบโควตานำเข้าพืชสวน รวมทั้งลำไยและทุเรียน

ข่าวทั่วไป Monday December 2, 2013 14:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ กระทรวงเกษตรส่งคณะเจรจากับอินโด เผยอินโดนีเซียยกเลิกระบบโควตานำเข้าพืชสวน รวมทั้งลำไยและทุเรียน คาดส่งออกปีหน้ากลับมาฟื้นตัวเช่นเดิม ส่วนหอมแดงใช้ระบบราคาอ้างอิงแทน นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมกับ นายชุมเจตน์ กาญจนเกสร ผู้อำนวยการสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซียให้เดินทางไปเข้าร่วมประขุมเจรจากับกระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียเพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกพืชสวนของไทยซึ่งปีที่ผ่านมาอินโดนีเซียมีการจำกัดจำนวนการนำเข้าพืชสวนจากประเทศต่างๆ โดยผู้นำเข้าของอินโดนีเซียต้องไปขอใบแนะนำการนำเข้าจากหกระทรวงเกษตรก่อนนำไปขอใบอนุญาตนำเข้าจากกระทรวงการค้าหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นระบบโควต้าโดยปริยาย ทำให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณการนำเข้าลำไย ทุเรียน และหอมแดงจากไทยลดลง โดยปี 2556 จัดสรรปริมาณนำเข้าลำไยไทย 70,000 ตัน โดยแยกเป็นช่วงครึ่งปีแรก (เดือนมกราคม ? เดือนมิถุนายน 25,000 ตัน และครึ่งปีหลัง (เดือนกรกฎาคม- ธันวาคม) 45,000 ตัน สำหรับทุเรียนไม่ให้นำเข้าในช่วงครึ่งปีแรก และจัดสรรปริมาณนำเข้าเฉพาะครึ่งปีหลัง 11,000 ตันเท่านั้น ส่งผลให้ไทยส่งออกผลไม้ทั้งลำไยและทุเรียนได้ลดลง กล่าวคือลำไยส่งออกได้ไม่เกิน 60 ? 70 % จากปีก่อนหน้า และทุเรียนส่งออกได้ไม่เกิน 50 % จากปีก่อนหน้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตของเกษตรกร เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นตลาดลำไยของไทยที่ทวีความสำคัญขึ้นมากในระยะ 2 ? 3 ปีหลังมานี้จนมีปริมาณการส่งออกจากไทยใกล้เคียงกับจีน คือ มากกว่า 100,000 ตัน สำหรับทุเรียน อินโดนีเซียเป็นตลาดอันดับ 2 รองจากจีนเช่นกันโดยมีปริมาณส่งออกจากๆ ไทยประมาณปีละ 18,000 - 20,000 ตัน สำหรับหอมแดงอินโดนีเซียจัดสรรปริมาณนำเข้าจากทุกประเทศรวมทั้งไทยตลอดทั้งปี 72,000 ตัน ซึ่งไทยส่งออกไปอินโดนีเซียประมาณ 30,000 ตัน จากปัญหาที่เกิดขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงให้ความสำคัญในการเจรจากับอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วที่อินโดนีเซียเริ่มใช้ระเบียบพืชสวนใหม่ โดยในเดือนมีนาคม ต้นปีนี้ได้จัดส่งคณะเจรจานำโดย นายชลิต ดำรงศักดิ์รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีผู้แทนกรมวิชาการเกษตร สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงจาการ์ตา และ มกอช. ร่วมด้วย ทั้งนี้ได้ทุกหน่วยงานนี้ได้ร่วมมือกันติดตามประเด็นปัญหาร่วมกับภาคเอกชน การจัดเตรียมข้อมูล และได้จัดส่งคณะเจรจาไปอินโดนีเซียอีกครั้งหนึ่งเพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง เพื่อให้การส่งออกในปี 2557 ขยายตัว รองเลขาธิการ มกอช ชี้แจงผลการประชุมว่า อินโดนีเซียได้ปรับปรุงกฎระเบียบพืชสวนใหม่ โดยจะยกเลิกระบบโควต้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป สินค้าพืชสวนที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลำไย ทุเรียน จะไม่มีระบบโควต้าอีกต่อไป ผู้นำเข้าอินโดนีเซียยังต้องขอใบแนะนำรายสินค้าจากกระทรวงเกษตร แต่จะไม่มีการจำกัดปริมาณ แล้วผู้นำเข้าสามารถนำใบแนะนำไปออกใบอนุญาตนำเข้าที่กระทรวงการค้าโดยแจ้งปริมาณที่ประสงค์จะนำเข้าในช่วง 6 เดือน คือช่วงครึ่งปีแรก และครึ่งปีแรก แต่ผู้นำเข้าจะต้องนำเข้าสินค้านั้นๆไม่ต่ำกว่า 80% ของปริมาณที่แจ้งความประสงค์นำเข้าไว้มิฉะนั้นจะถูกระงับการเป็นผู้นำเข้าในปีถัดไป สำหรับหอมแดงนั้นไม่มีการจำกัดปริมาณการนำเข้าเช่นกัน แต่จะใช้อีกระบบหนึ่ง คือ อินโดนีเซียจะพิจารณาชะลอการนำเข้าในช่วงที่ผลผลิตหอมแดงในประเทศออกสู่ตลาดมากเกินความต้องการ หรือมีสินค้าล้นตลาด โดย การใช้ราคาอ้างอิง ถ้าราคากลางในตลาดอินโดนีเซียสูงกว่าราคาอ้างอิง 30% ผู้นำเข้าจะสามารถยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าได้ โดยใบอนุญาตนำเข้าแต่ละใบจะสามารถนำเข้าได้อย่างต่อเนื่องมีระยะเวลา 3 เดือนไม่ว่าจะมีการประกาศชะลอการนำเข้าเนื่องจากราคากลางในตลาดอินโดนีเซียตกต่ำลงในช่วง 3 เดือนนี้หรือไม่ก็ตาม ซึ่งขณะนี้ราคาอ้างอิงหอมแดงประมาณ ๖๐ บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคากลางในตลาดสูงกว่ามาก ทำให้ขณะนี้เริ่มมีการนำเข้าหอมแดงภายใต้ระเบียบใหม่ใหม่แล้ว ระเบียบใหม่นี้จะส่งผลดีต่อไทยทั้งลำไย ทุเรียนและหอมแดง แม้ว่าอินโดนีเซียอาจชะลอไม่ให้นำเข้าหอมแดงในบางช่วงเวลา แต่ปัจจุบัน ฤดูกาลผลิตหอมแดงของไทยกับอินโดนีเซียไม่ตรงกันอยู่แล้ว คือฤดูการผลิตของไทยเป็นช่วงเดือนธันวาคม ? เมษายน ส่วนของอินโดนีเซียเป็นช่วงกรกฎาคม- ตุลาคม จึงคาดว่าการส่งออกลำไย ทุเรียน และหอมแดงของไทยในปี 2557 น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ