กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดเสวนาเพื่อสื่อมวลชนประจำปี 2556 เรื่อง Industry Focus : Moving Toward AEC ?อุตสาหกรรมไทยขับเคลื่อนสู่ AEC? เมื่อวันพุธที่ 27 พฤศจิกายน 2556 ณ ห้อง Board Room 4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาอุตสาหกรรมฯ ร่วมเสวนา อาทิ นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ และดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี คณะกรรมการ สภาอุตสาหกรรมฯ โดยมี ดร.ชโย ตรังอดิศัยกุล รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ เพื่อเตรียมความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมที่จะขับเคลื่อนสู่ AEC ตลอดจนการปรับกลยุทธ์ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก และการเปิดประตูเศรษฐกิจ AEC ที่ใกล้เข้ามา รวมถึงปัจจัยต่างๆ ทางเศรษฐกิจ การเมือง ที่กำลังรุมเร้า ทำให้นักอุตสาหกรรมทั้งหลายควรปรับตัว เตรียมความพร้อมรับมือเพื่อข้ามผ่านไปสู่โลกแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน โดยอาจกล่าวได้ว่า AEC จะเป็นประตูสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวในด้านการค้า และการลงทุนของประเทศ ซึ่งไทยถือเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมตั้งแต่กลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม ไปจนถึงกลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทคต่างๆ ที่สำคัญของภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยยังได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์เพราะตั้งอยู่ในจุดที่เป็นศูนย์กลางภูมิภาค
นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับอุตสาหกรรมในปี 2557 ที่มีแนวโน้มขยายตัว อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ ?ซึ่งในปี 2556 ยอดการซื้อรถยนต์ภายในประเทศจะลดลง ภายหลังหมดโครงการรถยนต์คันแรก แต่ยอดการส่งออกรถยนต์กลับขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถชดเชยตลาดรถยนต์ในประเทศได้ ทำให้มียอดการผลิตรถยนต์ในปีนี้ประมาณ 2.55 ล้านคัน โดยตลาดส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ ตลาดอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ ที่มีคำสั่งซื้อรถกระบะเข้ามาจำนวนมาก คาดว่าเป็นผลจากคำสั่งซื้อที่ค้างมาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งผู้ผลิตไม่สามารถผลิตส่งออกได้ เนื่องจากต้องผลิตรถป้อนความต้องการในประเทศที่สูงตามการกระตุ้นจากโครงการภาครัฐ ทั้งนี้การผลิตรถยนต์ในปี 2557 จะสูงกว่า 2.55 ล้านคัน แต่จะขยายตัวไปถึง 2.6-2.7 ล้านคันหรือไม่ คงต้องติดตามปัจจัยต่างๆ ที่จะเข้ามา โดยที่สภาอุตสาหกรรมฯ มองว่าหากสถานการณ์การเมืองอยู่ในภาวะปกติ ราคาพลังงานไม่อยู่ในระดับที่สูงจนเกินไป ราคาพืชผลเกษตรได้รับการดูแลไม่ให้ต่ำจนเกินไป ทั้งข้าว ยางพารา ก็จะส่งผลดีกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังซื้อเพิ่มขึ้น ทำให้ค่ายรถต้องเพิ่มยอดการผลิตสูงกว่าในปี 2556
อุตสาหกรรมอาหาร ภาพรวมการส่งออกในปี 2556 น่าจะเติบโตได้ร้อยละ 5 มากกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3 เนื่องจากในปี 2556 ไทยมีปัญหาการส่งออกกุ้งที่เกิดโรคระบาดทำให้กุ้งตายเป็นจำนวนมาก แต่มองว่าภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารในปี 2557 น่าจะดีขึ้น โดยคาดว่า จะเติบโตประมาณร้อยละ 5-7 ตามการบริโภคอาหารของโลกที่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจโลกดีขึ้น ประกอบกับประเทศอาเซียน และตะวันออกกลางมีความต้องการอาหารจากไทยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกลายเป็นกลุ่มตลาดส่งออกใหม่ของไทย
อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างและเครื่องใช้ในบ้าน เช่น อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมเซรามิก เป็นต้น คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการลงทุนของภาครัฐทั้งจากการลงทุนในการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท
อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ปัจจุบันธุรกิจต่อเรือและซ่อมเรือซบเซาต่อเนื่องมายาวนานกว่า 5 ปี เนื่องจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม สภาอุตสาหกรรมฯ คาดว่าอุตสาหกรรมต่อเรือน่าจะฟื้นตัวในปี 2557 ตามเศรษฐกิจโลก และจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจะจูงใจให้มีการลงทุนในการขุดเจาะน้ำมันเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่ม ปตท. มีแผนการลงทุน 5 ปีข้างหน้ากว่า 9 แสนล้านบาท ทำให้ความต้องการเรือให้บริการสำหรับแท่นเจาะน้ำมันในทะเลในอนาคตเพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ โดยภาพรวมของการผลิตสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ผลิตให้กับโรงงานประกอบรถยนต์ และส่วนที่ผลิตเป็นชิ้นส่วนสำรอง (Spare Parts) ในส่วนของการผลิตให้กับโรงงานประกอบรถยนต์เป็นช่วงชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาก่อนหน้านี้ จึงมีการลดกำลังการผลิตลง ส่วนแนวโน้มคาดว่ายังคงเป็นขาลงอยู่ ขณะที่แนวโน้มการผลิตในส่วนที่เป็นอะไหล่สำรองจะมีแนวโน้มทรงตัวค่อนไปทางขยายตัวดีขึ้น เนื่องจาก ในช่วงนี้มีบางพื้นที่ประสบภาวะน้ำท่วมจึงมีความต้องการอะไหล่สำรองมากขึ้น สำหรับ ตลาดส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ที่ส่งออกจำนวนมาก ได้แก่ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย บราซิล แอฟริกาใต้ อินเดีย อเมริกา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย โดยตลาดที่มีการเติบโตสูง คือ แอฟริกาใต้ ที่เติบโตประมาณร้อยละ 41.85 (8เดือนแรกของปี 2556 เทียบกับ 8 เดือนแรกของปี 2555) จึงคาดว่า การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ยังคงสามารถเติบโตได้ โดยชิ้นส่วนที่มีการส่งออกได้มากจะเป็น เพลาส่งกำลัง ข้อเหวี่ยง และยาง เป็นต้น ในด้านของชิ้นส่วนที่ใช้ใน Replacement Market ก็มีการเติบโตได้ดีเช่นกัน
?ทั้งนี้ยังมีอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ หัตถอุตสาหกรรม (ของเล่น) อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง รวมถึงอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องปรับอากาศ ซึ่งพบว่า เมื่อใกล้เข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีการเพิ่มกำลังการผลิตเกือบทุกโรงงาน และคาดว่าเมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะสามารถสนองตอบต่อการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกได้เป็นอย่างดี และอีกอุตสาหกรรมที่ไม่ควรมองข้ามคือกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ที่มีแนวโน้มขยายตัวไปยังตลาดเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามซึ่งน่าจะเป็นตลาดส่งออกที่ดี? นายพยุงศักดิ์ กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1296-9