กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--พม.
วันนี้ (๒๗ พ.ย.๕๖) เวลา ๑๐.๐๐ น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย การเคหะแห่งชาติ จัดงานสัมมนา ?๔๐ ปีการเคหะแห่งชาติ อยู่เคียงข้างชุมชนเสมอ? เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนต่างๆ ได้มีเวที ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานด้านการพัฒนาชุมชนซึ่งกันและกัน โดยมี นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในพิธีเปิดการสัมมนา ณ ห้องพาวิลเลี่ยน ชั้น ๘ โรงแรม เดอะแกรนด์โฟร์วิง คอนเวนชั่น ถนนศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ
นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา ๔๐ ปีที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยการเคหะแห่งชาติ มุ่งมั่นที่จะดำเนินการบริหาร และพัฒนาชุมชนในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ปัจจุบัน งานด้านการพัฒนาชุมชนของการเคหะแห่งชาติได้ขยายวงกว้าง มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น มีภาคีเครือข่ายเข้ามาร่วมพัฒนา เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) สถาบันการศึกษา มูลนิธิ ตลอดจนองค์กรพัฒนาชุมชนอิสระต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนให้ชุมชนได้รับการพัฒนาให้มีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ การจะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชาวชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ชาวชุมชนจะต้องสร้างชุมชนของตน ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีความสามัคคี สามารถรวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินโครงการต่างๆ ให้คุณภาพชีวิตของชาวชุมชน ดีขึ้นได้ การที่จะรวมกันเป็นชุมชนที่เข้มแข็งได้ ต้องเริ่มกันตั้งแต่ในครอบครัว สังคมเล็กๆ ที่จะพัฒนาคนให้ดีได้ ครอบครัวเป็นสถาบันหลักทางสังคมที่เล็กที่สุด เป็นรากฐานของการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ เนื่องจากครอบครัว เป็นแหล่งกำเนิดหล่อหลอมปลูกฝังสิ่งที่ดี และขัดเกลาทางสังคมให้สมาชิกเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ สถาบันครอบครัวจึงถือเป็นสถาบันเริ่มต้นในการพัฒนามนุษย์ไปสู่สังคม ถ้าสถาบันครอบครัวมีความอบอุ่นและเข้มแข็ง สมาชิกในครอบครัวก็จะมีคุณภาพ สามารถเผชิญกับสภาพการณ์ปัจจุบันได้อย่างเข้มแข็ง และเป็นบุคคล ที่มีคุณค่าต่อสังคม
นางปวีณา กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดงานสัมมนา ?๔๐ ปีการเคหะแห่งชาติ อยู่เคียงข้างชุมชนเสมอ? ครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนต่างๆ ได้มีเวที ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานด้านการพัฒนาชุมชนซึ่งกันและกัน และยังเป็นการเผยแพร่ผลงานด้านการบริหารและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน
?ชุมชนที่เข้มแข็ง คือ ชุมชนที่มีการเรียนรู้ มีการจัดการทรัพยากร และมีการพัฒนาตลอดเวลา ซึ่งก็หมายความว่ามีการจัดการตนเอง มีการจัดองค์กรชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้นำหรือคณะกรรมการต้องมีความเสียสละ ซื่อสัตย์ เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน รับฟังความคิดเห็นของสมาชิก เน้นการมีส่วนร่วม ยืดถือผลประโยชน์ของกลุ่มเป็นหลัก และสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้แก่สมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการบริหารจัดการที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความยุติธรรม? นางปวีณา กล่าวตอนท้าย.