มธ. จับมือ 3 องค์กรใหญ่ ภาครัฐ-เอกชน และสถาบันการศึกษาชั้นนำ เปิดหลักสูตรการจัดการออกแบบ ธุรกิจ และเทคโนโลยี ครั้งแรกในประเทศไทยและอาเซียน

ข่าวทั่วไป Monday December 2, 2013 10:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดหลักสูตรใหม่ ?ปริญญาตรีควบโท การจัดการออกแบบ ธุรกิจและเทคโนโลยี? โดยความร่วมมือทางวิชาการผ่านเครือข่าย 4 องค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองและคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และ มหาวิทยาลัย Northumbria ประเทศอังกฤษ พร้อมด้วยสถาบันส่งเสริมการออกแบบและนวัตกรรมเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทยมุ่งสร้างองค์ความรู้ด้านการจัดการออกแบบครอบคลุมในทุกมิติ ที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์เชิงสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ของสังคมใหม่อย่างแท้จริง ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้นำสถาบันการศึกษาของประเทศที่มีหลักสูตรการศึกษาโดดเด่นทั้งในด้านองค์ความรู้ทางวิชาการที่ครบถ้วนและลึกซึ้งในทุกศาสตร์และการมุ่งเน้นสร้างทัศนคติในการแสวงหาวิชาความรู้เพิ่มเติมเพื่อให้นักศึกษาสามารถวิเคราะห์ปัญหาและตัดสินใจอย่างมีเหตุผล รวมทั้งการปลูกฝังด้านคุณธรรมจริยธรรม เพื่อการผลิตบุคลากรที่มีความเป็นผู้นำ สามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้แก่สังคมไทยและภูมิภาค ?ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีความซับซ้อนในสังคมเมือง รวมถึงการก้าวเข้าสู่สังคมยุคใหม่ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว การเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนจึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องอาศัยวิสัยทัศน์และความรู้ความเข้าใจอย่างมีองค์รวมและการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและสากลเพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงเป็นหน้าที่ ของสถาบันการศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรที่มีการบูรณาการองค์ความรู้ด้านการจัดการออกแบบการจัดการ และความคิดเชิงกลยุทธ์ที่ทันสมัย พร้อมทั้งการประยุกต์ใช้แนวคิดเชิงการออกแบบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาและการแข่งขันสำหรับทุกธุรกิจและองค์กร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเปิดหลักสูตรใหม่ ?ปริญญาตรีควบโท การจัดการออกแบบ ธุรกิจ และเทคโนโลยี? ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและอาเซียน? โดยความร่วมมือทางวิชาการผ่านเครือข่าย 4 องค์กร ทั้งสถาบันการศึกษาชั้นนำ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี School of Environment and Engineering มหาวิทยาลัย Northumbria ประเทศอังกฤษ พร้อมด้วยสถาบันส่งเสริมการออกแบบและนวัตกรรมเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และบมจ.ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งทำให้การพัฒนาหลักสูตรมีความครอบคลุมในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง อันจะสามารถตอบโจทย์ของสังคมได้อย่างแท้จริง ?มหาวิทยาลัยคาดหวังว่า หลักสูตรนี้จะผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญ มีวิสัยทัศน์ ความรู้ ความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทั้งในเชิงผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และการบริการ และมีจิตสาธารณะตระหนักถึงปัญหาของสังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับคนรุ่นต่อๆ ไปได้ สอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และความต้องการของสังคมโลกแห่งความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น? อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว ม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการออกแบบและนวัตกรรมเพื่อการค้าและคณะกรรมการอำนวยการของหลักสูตรการจัดการออกแบบ ธุรกิจ และเทคโนโลยี กล่าวว่า ประเทศไทยยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านการจัดการออกแบบ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและบริการ และการพัฒนานวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ในระดับสากลหลักสูตรฯ นี้จะช่วยผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในองค์ความรู้ด้านการจัดการออกแบบเพิ่มขึ้นจะช่วยสร้างนักคิด นักจัดการออกแบบที่มีคุณภาพและสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมการออกแบบอย่างยั่งยืน ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของสังคมยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดรับกับนโยบายหลักของสถาบันส่งเสริมการออกแบบฯ ในการยกระดับมาตรฐานการออกแบบและการพัฒนานวัตกรรมของไทยสู่ระดับนานาชาติ สถาบันส่งเสริมการออกแบบฯ รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการของโครงการนี้ และร่วมกำหนดนโยบายและแผนการดำเนินงานของหลักสูตรฯ ซึ่งสถาบันฯ พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ทั้งด้านกิจกรรมทางวิชาการ การสนับสนุนบุคลากรในการเป็นวิทยากรบรรยาย การฝึกงาน และการร่วมวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่างๆ นางสาวชุติมา โมกขะสมิต ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารธุรกิจลูกค้าบรรษัท บมจ.ธนาคารกสิกรไทย และคณะกรรมการอำนวยการของหลักสูตรการจัดการออกแบบ ธุรกิจ และเทคโนโลยี กล่าวว่า ธนาคารมีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรเชิงวิชาการกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยความร่วมมือนี้จะครอบคลุมการสนับสนุนบุคลากรจากธนาคารกสิกรไทยในการเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษของหลักสูตรการจัดการออกแบบ ธุรกิจ และเทคโนโลยี และกิจกรรมทางวิชาการอื่นๆ พร้อมทั้งการสนับสนุนโครงการฝึกงานสำหรับนักศึกษาหลักสูตรนี้ รวมทั้งการวิจัยร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการออกแบบ ธุรกิจ และเทคโนโลยี ซึ่งบัณฑิตที่จบการศึกษาของหลักสูตรจะได้รับทั้งความรู้เกี่ยวกับการจัดการออกแบบโดยตรงและความรู้จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางด้านการให้บริการลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งความรู้ในด้านภาคธุรกิจของเครือธนาคารกสิกรไทย ซึ่งจะช่วยเปิดมุมมองของนักศึกษาให้กว้างออกไปอย่างไม่มีขีดจำกัด เพื่อเพิ่มศักยภาพและขยายโอกาสต่างๆ ในการเรียนรู้ของนักศึกษา เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับชาติบ้านเมืองซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือครั้งนี้ รศ.เฉลิมวัฒน์ ตันตสวัสดิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลักสูตรปริญญาตรีควบโท การจัดการออกแบบ ธุรกิจ และเทคโนโลยี ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มีระยะเวลาการเรียนการสอนตลอดหลักสูตรทั้งสิ้น 5 ปี เนื้อหารายวิชาเกี่ยวกับความรู้ด้านการจัดการออกแบบ (Design Management) ที่เป็นศาสตร์เชิงธุรกิจในการออกแบบเน้นประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และการคิดเชิงสร้างสรรค์ ร่วมกับการปฏิบัติงานจริงในภาคธุรกิจและองค์กรที่เป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรม ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะสามารถทำงานในระดับผู้นำของธุรกิจและองค์กรที่ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ด้านการออกแบบเป็นผู้จัดการออกแบบ นักวิจัยและพัฒนาคิดค้นนวัตกรรม ทั้งในเชิงผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และการบริการได้เป็นอย่างดี ตลอดจนสามารถเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ที่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบต่อสังคม ?สำหรับปีหน้า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองจะมีการดำเนินการครบรอบ 15 ปี จึงได้จัดทำโครงการ ?15 ปี 15 ความร่วมมือ? ขึ้น เพื่อสร้างเครือข่ายของความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคณะฯและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ สมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน โดย บมจ.ธนาคารกสิกรไทย และบริษัทภาคเอกชนอีกหลายแห่งได้ตอบรับร่วมในโครงการแล้ว ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าอีกก้าวหนึ่งของคณะฯ ในการสร้างสรรค์ให้เกิดการเรียนรู้ที่มีการเชื่อมโยงภาคการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบเข้ากับภาคอุตสาหกรรมและสังคม? รศ.เฉลิมวัฒน์ กล่าวในตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ