กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--Ideaworks Communications
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดตัวกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ทรูโกรท(ทรูจีไอเอฟ หรือ TRUEGIF) โดยลงทุนในกรรมสิทธิ์ และสิทธิในการรับผลประโยชน์จากรายได้สุทธิที่เกิดจากเสาโทรคมนาคม ระบบใยแก้วนำแสง และระบบบรอดแบนด์
นายนพปฏล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ?การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ทรูโกรท (ทรูจีไอเอฟ หรือ TRUEGIF) ถือเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่จัดขึ้นเป็นรายแรกในประเทศไทย โดยลงทุนในเสาโทรคมนาคม ระบบใยแก้วนำแสงและอุปกรณ์สื่อสัญญาณ และระบบบรอดแบนด์ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อสนับสนุนการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน รวมถึงยังเป็นการลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนของอุปกรณ์พื้นฐานทางด้านโทรคมนาคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาการให้บริการเครือข่ายมีประสิทธิภาพมากขึ้น?
ทั้งนี้ กลุ่มทรูเป็นผู้สนับสนุนการก่อตั้งกองทุนทรูจีไอเอฟ โดยเป็นผู้โอนทรัพย์สินและสิทธิในการรับประโยชน์จากรายได้สุทธิของสินทรัพย์ของกลุ่มทรูให้แก่กองทุน นอกจากนี้เพื่อสนับสนุนกองทุนทรูจีไอเอฟ กลุ่มทรูยังเป็น ผู้เช่าและบริหารจัดการหลักในทรัพย์สินโทรคมนาคมของกองทุน และจะเป็นผู้ซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนทรูจีไอเอฟ ในจำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 18 อีกด้วย
สำหรับทรัพย์สินที่จะนำเข้ากองทุนทรูจีไอเอฟ ได้แก่ กรรมสิทธิ์ในเสาโทรคมนาคมจำนวน 6,000 เสา กรรมสิทธิ์ในระบบใยแก้วนำแสงหลัก และอุปกรณ์ระบบสื่อสัญญาณที่เกี่ยวข้อง ความยาว 5,112 กิโลเมตร และระบบ บรอดแบนด์ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด จำนวน 1.2 ล้านพอร์ต และสิทธิในการรับประโยชน์จากรายได้สุทธิที่เกิดจากการให้เช่า (1) เสาโทรคมนาคม จำนวน 5,845 เสา และ (2) ระบบใยแก้วนำแสงและอุปกรณ์ระบบสื่อสัญญาณความยาว 47,250 กิโลเมตร รวมถึงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวจำนวนหนึ่ง ซึ่งกองทุนมีสิทธิในการซื้อหรือรับโอนตามเงื่อนไขและเวลาที่กำหนด
กองทุนนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนจากผู้ลงทุนทั่วไป และถือเป็นช่องทางให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้มีโอกาสลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและสิทธิในการรับประโยชน์จากการลงทุนของกองทุนในสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ซึ่งบริษัทมีความมั่นใจว่ากองทุนทรูจีไอเอฟ มีศักยภาพในการสร้างรายได้ และเป็นกองทุนที่สามารถจ่ายผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้ในระยะยาว
นางโชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัดในฐานะผู้จัดการกองทุน กล่าวว่า ขณะนี้ กองทุนทรูจีไอเอฟ อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
สำหรับจุดเด่นของกองทุนนี้ประกอบด้วยทรัพย์สินที่มีความหลากหลายและกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ซึ่งสนับสนุนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมประชากรประมาณร้อยละ 95 ทั่วประเทศ และระบบใยแก้วนำแสงครอบคลุมกว่า 73 จังหวัดทั่วประเทศ ขณะเดียวกันยังมีโอกาสในการเติบโตจากการร่วมใช้เสา และอุปกรณ์โทรคมนาคมจากผู้ให้บริการรายอื่น รวมถึงโอกาสจากการพัฒนาของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในอนาคต
นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีโอกาสรับผลตอบแทนที่มั่นคงจากการมีผู้เช่าหลักคือกลุ่มทรู ที่ได้ทำสัญญาเช่าดำเนินการ การบำรุงรักษา และบริหารจัดการกับกองทุนเป็นเวลานานกว่า 10 ปี การสนับสนุนและความเชี่ยวชาญจากกลุ่มทรู จะทำให้กองทุนทรูจีไอเอฟมีข้อได้เปรียบเชิงแข่งขันในการบริหารจัดการทรัพย์สิน ซึ่งกลุ่มทรูถือเป็นหนึ่งในบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำที่มีกลุ่มผู้บริหารที่มีประสบการณ์
?ในฐานะผู้จัดการกองทุน เรามองเห็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทยที่กำลังอยู่ในช่วงเปิดเสรี สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ ทำให้มีความต้องการใช้โครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเกิดขึ้น เพื่อรองรับการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน ช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุน เพราะทั้งเสาและไฟเบอร์ออฟติกสามารถรองรับจำนวนผู้ให้บริการได้หลายรายซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมในการเพิ่มผู้เช่านั้นค่อนข้างต่ำ ทำให้สามารถรับรู้รายได้ของกองทุนเพิ่มเติมเป็นผลกำไรและกระแสเงินสดได้ง่ายยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ? นางโชติกากล่าว
ห้ามเผยแพร่หรือแจกจ่ายข้อมูลที่อยู่ในเอกสารนี้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมนอกประเทศไทย และห้ามเผยแพร่หรือแจกจ่ายข้อมูลที่อยู่ในเอกสารนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา หรือญี่ปุ่น เอกสารฉบับนี้ไม่ถือเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ ไม่ว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือในประเทศอื่น ๆ หลักทรัพย์ที่ถูกอ้างถึงในเอกสารนี้ ไม่ได้รับการจดทะเบียนและจะไม่มีการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์แห่งสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1933 (ตามที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม) และไม่สามารถทำการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ถูกอ้างถึงในเอกสารฉบับนี้ได้ในประเทศสหรัฐอเมริกา เว้นแต่หลักทรัพย์นั้นจะได้รับการจดทะเบียนหรือเป็นไปตามข้อยกเว้นจากการจดทะเบียนหลักทรัพย์ และจะไม่มีการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ถูกอ้างถึงในเอกสารฉบับนี้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไปในประเทศสหรัฐอเมริกา