กรุงเทพ--24 เม.ย.--กระทรวงการคลัง
กระทรวงการคลังขอแถลงให้ทราบโดยทั่วกันว่า ในโอกาสที่ ฯพณฯ ดร.อำนวย วีรวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางไปราชการ ณ นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อดำเนินการกู้เงินโดยวิธีออกพันธบัตรชนิดจำหน่ายทั่วไป ในตลาดทุนสหรัฐ หรือที่เรียกว่า Yankee Bond ระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2540 นั้น ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คณะที่ปรึกษา และประธานสมาคมธนาคารไทย ได้ทำการประชาสัมพันธ์ หรือที่เรียกว่า Roadshow ซึ่งเป็นการพบปะกับนักลงทุนสหรัฐ ทั้งในรูปการบรรยายในวงกว้าง (Presentation) และการพบตัวต่อตัว (One on One) ในเมืองสำคัญ ๆ อาทิ มีนาโพลีส ชิคาโก บอสตัน และนิวยอร์ค เพื่อชี้แจงนโยบายและสถานะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน รวมทั้งฐานะการเงินการคลัง ภาวะการเมือง และการลงทุนในประเทศไทย โดยมีนักลงทุนสนใจเข้าฟังประมาณ 200 คน นอกจากนั้นยังมีการทำ Conference Call กับนักลงทุนสหรัฐโดยทั่วไปด้วย
ผลจากการทำ Roadshow ทำให้กระทรวงการคลังสามารถทำความตกลงในเงื่อนไขพันธบัตรที่จะออกจำหน่ายในครั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2540 ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.75 ต่อปี และจำหน่ายในราคาร้อยละ 99.603 ของราคาเสมอภาค โดยมีอัตราผลตอบแทนร้อยละ 7.808 ต่อปี สำหรับพันธบัตรระยะ 10 ปี ซึ่งเทียบเท่าอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (US Tresury Bond Yield หรือ T) บวกด้วยส่วนต่างในอัตราร้อยละ 0.90 ต่อปี หรือเท่ากับ T+90 Basis Point และสามารถจัดจำหน่ายได้ในวงเงินถึง 600 ล้านเหรียญสหรัฐ จากวงเงินที่เสนอขายขึ้นต้น 500 เหรียญสหรัฐ
กระทรวงการคลังขอแถลงให้ทราบเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกู้เงินโดยวิธีออกพันธบัตรรายนี้ดังนี้
(1) พันธบัตรของประเทศไทยที่จัดจำหน่ายในอัตราเทียบเท่า T+90 Basis Point จะเท่ากับพันธบัตรรายล่าสุดจากประเทศเกาหลี ซึ่งมีลำดับเครดิตสูงกว่าประเทศไทย 2 ขั้น กล่าวคือ ประเทศไทยได้รับการจัดลำดับเครดิตในประดับ A3/A ในขณะที่เกาหลีมีลำดับเครดิตอยู่ในระดับ A1/AA- โดยบริษัท Moody's และบริษัท Standard and Poor ตามลำดับ
(2) แม้ว่า Moody's จะประกาศปรับลดการจัดลำดับเครดิตของประเทศไทยจากระดับ A2 เป็น A3 แต่นักลงทุนในตลาดทุนต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐ ยุโรป และเอเซีย ยังสนับสนุนการลงทุนในพันธบัตรของประเทศไทยรายนี้ โดยมีข้อเสนอซื้อในวงเงินสูงถึง 750 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่กระทรวงการคลังได้ตัดสินใจออกพันธบัตรเพียง 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามความจำเป็นในการใช้เงินในปีนี้
(3) การกู้เงินโดยวิธีออกพันธบัตรในครั้งนี้ กระทรวงการคลังมีเป้าหมายในการสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง หรือที่เรียกว่า Benchmark ในตลาดทุนสหรัฐ เพื่อประโยชน์สำหรับผู้กู้เงินรายอื่นจากประเทศไทยในอนาคต ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินของประเทศในภาพรวมลดลง
(4) การกู้เงินครั้งนี้เป็นการกู้เงินโดยวิธีออกพันธบัตรชนิดจำหน่ายทั่วไปในตลาดทุนสหรัฐเป็นครั้งที่ 3 โดยได้มีการกู้เงินครั้งสุดท้าย เมื่อปี 2535 ในการนี้ ฯพณฯ รองนายกรัฐมนครีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยการจัดจำหน่ายพันธบัตรกับคณะผู้จัดการจัดจำหน่ายรวม 5 ราย โดยมี Lehman Brothers Inc. และ Salomon Brothers Inc. ในฐานะหัวหน้าคณะผู้จัดการจัดจำหน่ายพันธบัตรเป็นผู้ลงนามแทน เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2540 และมี Chase Manhattan Bank เป็นธนาคารตัวแทนรับจ่ายเงิน (Fiscal and Paying Agent)
(5) กระทรวงการคลังได้กำหนดจะนำเงินที่ได้จากการออกพันธบัตรรายนี้มาจัดสรรสำหรับลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในแผนการก่อหนี้จากต่างประเทศที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ โดยกรณีที่หน่วยงานผู้ดำเนินโครงการเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็จะทำสัญญาให้กู้ต่อตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังได้ผูกพันกับรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ฯลฯ--จบ--