กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--กระทรวงอุตสาหกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรม จัดสืบสายมรดกล้ำค่าแห่งไทย ผ้าไหมไทยอันทรงคุณค่าที่ทั่วโลกต่างให้การยอมรับ ในงาน ?เทศกาลไหมไทยที่โคราช? Thai Silk Festival 2013 เพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างค่านิยมการใช้ผ้าไหมไทยให้แพร่หลายไปสู่นานาประเทศ พร้อมผลักดันผ้าไหมไทยสู่สากล นโยบายการส่งเสริมผ้าไหมสู่สากลของรัฐบาล โดยจะจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ตลอด 7 วัน ระหว่างวันที่ 9-15 ธันวาคม 2556 ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 48 พรรษา อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการโครงการไหมไทยสู่สากล กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตไหมไทย รวมถึงผลิตภัณฑ์ไหมไทยที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของโลก มีแรงงานในอุตสาหกรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานในชนบท ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของไทย ถือเป็นเอกลักษณ์ไทยที่ได้รับการกล่าวขวัญมานานแล้วในด้านความงดงามของสีสัน และลวดลาย รวมถึงฝีมือการทอผ้าของคนไทยที่ได้รับการถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหมของไทยนั้น ต่างได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งจากชาวไทยและชาวต่างประเทศ ไหมไทยเป็นสินค้าหัตถกรรมที่มีขั้นตอนการผลิตที่ใช้แรงงานคนไทยเป็นหลัก ซึ่งเหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีแรงงานเป็นจำนวนมาก กล่าวคือ อุตสาหกรรมการผลิตไหมไทยสามารถสร้างงานให้กับชาวบ้าน และเป็นการเพิ่มรายได้ให้แรงงานในชนบทด้วย
กระทรวงอุตสาหกรรม จึงให้การสนับสนุนด้านการผลิต ผลิตภัณฑ์ไหมไทยให้มีศักยภาพและยกระดับความสามารถในการแข่งขันและขยายช่องทางการตลาด การสร้างตราสินค้าใหม่จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น การสร้างการรับรู้ในคุณค่าของผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมไทยอย่างต่อเนื่อง การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและการประชาสัมพันธ์ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน รวมทั้งตราสินค้าจากภูมิปัญญาไทยให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของผู้บริโภค การพัฒนาคุณภาพและรูปแบบสินค้าให้เกิดความได้เปรียบในด้านความแตกต่าง การเพิ่มมูลค่าด้วยความคิดสร้างสรรค์ และการยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าไหมไทยให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งการสร้างความได้เปรียบของผลิตภัณฑ์ไหมไทย นอกจากจะนำรายได้เข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่าของไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการขยายช่องทางและโอกาสทางการค้าของไทยให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นแหล่งวัสดุผ้าไหมที่สำคัญของโลก สำหรับการผลิตเสื้อผ้า เครื่องใช้ในบ้านที่ทำจากผ้าไหม อันจะนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ไปสู่ชุมชนทั้งในส่วนของ ผู้ปลูกหม่อน ผู้เลี้ยงไหม ผู้ทอผ้า และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ไหมของไทย โดย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมไหมไทยในหลายๆ ด้าน อาทิ พัฒนาด้านบุคลากร โดยเน้นที่ผ้าไหมทอมือ ซึ่งจะเป็นมรดกสืบทอดไปอีกยาวนาน, พัฒนาด้านเทคโนโลยีและด้านการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดการสูญเสียทั้งระบบ และพัฒนารูปแบบสินค้าและการตลาด โดยเน้นที่แฟชั่น และผลิตสินค้าให้เหมาะสมกับรสนิยมของลูกค้า มีการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์สินค้าผ้าไหมอย่างต่อเนื่อง
ตลาดผ้าไหมโคราช มีการเติบโตมากกว่า 20 % ทำให้ยอดการจำหน่ายผ้าไหมโคราชขยายตัวดี ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดนครราชสีมามีการผลิตผ้าไหมออกสู่ตลาดมากกว่า 10 ล้านหลาต่อปี สามารถทำรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 4,000 ล้านบาท จึงกล่าวได้ว่า ?ผ้าไหมจากจังหวัดนครราชสีมาถือว่ามีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในกลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมนครชัยบุรินทร์ 4 จังหวัด (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์) ซึ่งมีรายได้รวมปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท? และอำเภอปักธงชัย ก็นับว่าเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่ใหญ่ที่สุด โดยพิจารณาได้จากปริมาณการใช้ไหมเส้นยืน ซึ่งมีอัตราการใช้ในพื้นที่ปักธงชัยกว่า 70 % ของปริมาณการใช้ไหมเส้นยืนทั้งประเทศ อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่มีคุณภาพ มีความสวยงาม และมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย ประมาณการผลผลิตผ้าไหมจำนวน 10 ล้านหลาต่อปี คิดเป็นมูลค่าของผ้าไหมที่ส่งขายในประเทศและต่างประเทศไม่น้อยกว่า 3,600 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นการเสริมรายได้ให้แก่ประชาชนเพื่อให้พ้นจากความยากจน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ซึ่งจากศักยภาพการผลิตผ้าไหมในพื้นที่อำเภอปักธงชัย กอปรกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดผลักดันให้โคราชเป็นศูนย์กลางของผลิตภัณฑ์ผ้าไหมทั้งด้านการผลิตและการจำหน่าย กระทรวงอุตสาหกรรม จึงมีนโยบายยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่ระดับสากล โดยกำหนดให้การจัดงานเทศกาลไหมไทย ที่ปักธงชัย เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศ และเป็นงานที่จัดประจำในทุกปี โดยในปี้นี้จัดขึ้นในชื่องาน ?เทศกาลไหมไทยที่โคราช? Thai Silk Festival 2013 โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-15 ธันวาคม 2556 เวลา 10.00 ? 24.00 น. ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 48 พรรษา อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า งาน ?เทศกาลไหมไทยสู่สากล? Thai Silk Expo 2013 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ?ถักทอ กรอไหม สู่ลายผ้า? ซึ่ง ถักทอไหมไทย คือ สะท้อนวิถีชีวิตคนไทยที่ประณีตเรียบง่ายสวยงาม, กรอไหมไทย คือ ภูมิปัญญาแห่งบรรพชนพัฒนาสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอในปัจจุบัน และ สู่ลายผ้า คือ ความงดงาม วิจิตรตระการตา ทรงคุณค่า ทั่วโลกยกย่องในคุณภาพ สร้างเศรษฐกิจชุมชนแข็งแรงอย่างยั่งยืน โดยกิจกรรมตลอด 7 วัน 7 คือ จะประกอบด้วย นิทรรศการ ?ถักทอ กรอไหม สู่ลายผ้า? โดย จิม ทอมป์สัน ซึ่งเป็นนิทรรศการแสดงกระบวนการ ผลิตผ้าไหมตั้งแต่ขั้นต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยแสดงถึงกระบวนการต่างๆ, การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม, การสาวไหม, การฟอกย้อมเส้นไหม, การทอผ้าไหม และการผลิตภัณฑ์ผ้าไหม, นิทรรศการ ?ประวัติผ้าไหมไทย? โดยกรมหม่อนไหม จัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการมีชีวิตที่แสดงประวัติความเป็นมาของผ้าไหมในประเทศไทย, ผ้าไหมโคราช และผ้าไหมปักธงชัย, นิทรรศการ ?ตรานกยูงพระราชทาน? ตราพระราชทานโดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญลักษณ์นกยูงไทย ให้เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย 4 ชนิด เพื่อให้มีการใช้เครื่องหมายรับรองอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ เป็นการแก้ปัญหาในด้านมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยและการแอบอ้างนำคำว่า ?ไหมไทย (Thai silk)? ไปใช้เพื่อการค้า, การออกร้านและจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ผ้าไหม กว่า 60 ร้านค้า, การออกร้านและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP กว่า 40 ร้านค้า และคลินิกอุตสาหกรรม เพื่อแนะนำให้ความรู้ด้านอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชนแก่ประชาชนทั่วไป
และสำหรับไฮไลท์ประจำทุกวัน คือ การจัดแสดงแฟชั่นโชว์ Thai Silk โดย 6 ดีไซเนอร์ชั้นนำของประเทศ จากผ้าไหมไทย 63 ชุด ได้แก่ ผศ.กิตติภรณ์ นพอุดมพันธุ์, อ.หิรัญกฤษฏ์ ภัทรบริบูลกุล, อ.ดุจหทัย วงษ์กะพันธ์, นิโลบล เต็มสุขสันต์, จาตุรณ แร่เพชร, ธันยพัต ศรีวิสาร์กรและกันต์รพี ท่าช้าง แสดงแบบโดยนางแบบชั้นนำระดับประเทศมากมาย อาทิ โบว์ลิ่ง-ปริศนา กัมพูสิริ นางสาวไทย 2555, นิวเคลียร์-หรรษา จึงวิวัฒนวงศ์ และอุ้ม-ลักขณา วัธนวงส์ศิริ พร้อมการแสดงคอนเสิร์ตโดยศิลปินมากมาย อาทิ ปาล์มมี่, บอย พีชเมคเกอร์, เปาวลี, ต่าย อรทัย, ,ใบเตย อาร์สยาม, ไหมไทย ใจตะวัน, เอกพล มนต์ตระการ และรำวงย้อนยุค รวมถึงยังมีกิจกรรมการประกวดผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหม จำนวน 9 ชนิด ทั้งประเภทกี่ทอมือ, กี่กระตุก และของใช้ ของที่ระลึก, การะประกวดออกแบบชุดผ้าไหม Young Designer และการประกวดธิดาผ้าไหม
นายชยาวุธ จันทร์ธร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวปิดท้ายว่า ที่ผ่านมาจังหวัดนครราชสีมาได้กำหนดยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นขึ้น โดยได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของ ?ผ้าไหมโคราช? ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญในการส่งเสริมการสร้างรายได้ในท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของแผ่นดิน และเผยแพร่ชื่อเสียงของผ้าไหมโคราชให้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป จึงได้วางยุทธศาสตร์ไหมโคราช ให้โคราช เป็นศูนย์กลางของผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ทั้งด้านการผลิตและจำหน่าย โดยสนับสนุนผ้าไหมโคราชให้มีการทำอย่างเป็นระบบมากขึ้น จากในอดีตที่มีกลุ่มชาวบ้านผลิตผ้าไหมเพื่อเป็นรายได้เสริม ใช้เวลาว่างหลังการทำไร่ ทำนา แต่วันนี้การทำผ้าไหมกำลังเป็นแหล่งรายได้หลักของชาวบ้านที่มีเม็ดเงินสะพัดมหาศาล เป็นการพัฒนาระบบผ้าไหมโคราชที่ได้ผลดีทั้งด้านการสร้างรายได้อย่างคึกคักแก่เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในชุมชนท้องถิ่นหลายอำเภอ ผู้ประกอบการร้านค้าผลิตภัณฑ์ผ้าไหมในโคราช และผลดีทางด้านการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านให้ดำรงสืบไป