กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--โฟร์ฮันเดรท
กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการรวมพลังภาคประชาชนสนับสนุนการสร้างสื่อการสอน และการเรียนรู้แห่งชาติ (Thailand Digital Education Content Kick off Campaign) เพื่อให้อนาคตของชาติและกระบวนการศึกษาสอดคล้องกับยุคสมัยของโลกที่ไร้พรมแดน โดยมีเครือข่ายร่วมสนับสนุนโครงการ ?เด็กไทย ไม่แพ้ใครในโลก ด้วย Digital Content? ทั้งจากภาคสังคม ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม ภาคการศึกษา ภาคการเงินการธนาคาร และภาคส่วนอื่น กว่า 90 หน่วยงาน เพื่อเริ่มต้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของสื่อในรูปแบบ Digital ที่เข้าไปอยู่ในสถาบันการศึกษาทุกระดับชั้น ทุกภาคส่วน รวมถึงครอบครัว
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ด้วยปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าการเรียนรู้ของคนในชาติไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระดับชั้นใด ต่างต้องเผชิญกับความท้าท้ายและอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีไปสู่ยุคดิจิตอล การศึกษาเรียนรู้ในโลกปัจจุบันจึงไม่จำเป็นต้องมีข้อจำกัดในมิติของเวลา สถานที่ และยังสามารถส่งผ่านไปยังอุปกรณ์ในการสื่อสารได้แทบทุกรูปแบบ หากแต่ว่าเนื้อหาสาระของความรู้ที่แท้จริงที่จะมีการส่งไปยัง นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ปกครองและประชาชนผู้สนใจใฝ่รู้นั้น ควรจะได้มีการกำหนดมาตรฐาน มีความถูกต้อง ครบถ้วน ทันสมัย มีประโยชน์ต่อการพัฒนาทั้งในเชิงความรู้ และการกำหนดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ อันจะนำมาซึ่งความรุ่งเรืองทางปัญญาของคนในชาติ
ในประเด็นดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นภารกิจของทุกภาคส่วนของสังคมไทยที่จะต้องมีฝันร่วมกัน มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้อนาคตของชาติ และกระบวนการศึกษาสอดคล้องกับยุคสมัยของโลกที่ไร้พรมแดน ?เครือข่ายผู้สนับสนุนโครงการ เด็กไทย ไม่แพ้ใครในโลก ด้วย Digital Content? ซึ่งเกิดจากผู้คนหลากหลายอาชีพ ทั้งจากภาคสังคม ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม ภาคการศึกษา ภาคการเงินการธนาคาร และภาคส่วนอื่น กว่า 90 หน่วยงาน ได้ริเริ่มความคิดเกี่ยวกับ Thailand Digital Education Content หรือ เนื้อหาในการสื่อการเรียนรู้ของชาติ เพื่อร่วมกันจัดงาน ?เด็กไทย ไม่แพ้ใครในโลก ด้วย Digital Content (Thailand Digital Education Content Kick Off Campaign)? เพื่อเริ่มต้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของสื่อในรูปแบบ Digital ที่เข้าไปอยู่ในสถาบันการศึกษาทุกระดับ
นายจาตุรนต์ กล่าวเพิ่มเติมว่าการร่วมลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะแสดงให้สังคมเห็นว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ตระถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมต่อไป การประสานความร่วมมือและบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการรวบรวมสื่อในรูปแบบ Digital โดยมีแนวคิดในบันทึกข้อตกลง 2 แนวคิดคือ แนวความคิดที่จะร่วมสนับสนุน ผลักดันและส่งเสริมในการจัดให้มี Digital Content ในระบบการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และเป็นประโยชน์สูงสุดในกระบวนการศึกษาของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่สนใจใฝ่หาความรู้โดยทั่วไปเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย
และลักษณะความร่วมมือของภาคี จะเป็นในรูปแบบส่งผู้แทนเข้าประชุม และหารือแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็น ประสบการณ์ร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยน และบูรณาการสิ่งต่างๆ ที่เกิดจากการระดมความคิด ความฝันที่สร้างสรรค์ เพื่อให้ระบบการศึกษาไทยเกิดมี National Digital Education Content ในระบบการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และเป็นประโยชน์สูงสุดในกระบวนการศึกษาของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่สนใจใฝ่หาความรู้โดยทั่วไป