กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--Aziam Burson-Marsteller
ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมกลายเป็นปัจจัยที่ไม่อาจมองข้าม องค์กรต่างๆ ล้วนให้ความสนใจและนำมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างกว้างขวาง หากแต่รูปแบบหรือวิถีแห่งการเดินของแต่ละแห่งอาจต่างกันไปตามความสนใจและเป้าประสงค์ของการ “ให้” ที่มุ่งหวัง “ผลสัมฤทธิ์”ที่แตกต่างกัน
บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ภายใต้แบรนด์ชาวเกาะ แม่พลอย และยอดดอย ก็เช่นเดียวกัน ตลอดระยะเวลากว่า 37 ปี ของการเติบโตบนเส้นทางที่ยืนเคียงคู่เกษตรกรไทย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะผลักดันสินค้าแปรรูปเกษตรของไทยให้สามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ มาวันนี้ ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องบนรากฐานที่มั่นคง ซึ่งสิ่งสำคัญที่บริษัทยึดมั่นมาตลอดก็คือ “การสร้างคุณค่าให้กับสังคม เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน”
“สำหรับเทพผดุงพรมะพร้าว การดำเนินธุรกิจของเราจะต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับสังคม เพื่อการเติบโตที่คู่ขนานกันไปอย่างยั่งยืน อาจพูดได้ว่า การดำเนินงานของเราก้าวข้ามไปกว่าการรับผิดชอบต่อสังคมแบบเดิมไปแล้ว แต่เป็นการพัฒนาไปสู่การสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนให้กับสังคมในแบบ Corporate Shared Value ทุกสิ่งที่เราคิดและทำ จะต้องช่วยสร้างสรรค์คุณค่าเพิ่มให้กับสังคมได้”
นายเกียรติศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการบริหาร บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด บอกถึงจุดยืนของบริษัทฯที่ผู้บริหารและพนักงานต่างยึดมั่นร่วมกันการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทฯ มีทั้งส่วนที่เป็นการผลิตสินค้าอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR in process) และการคืนประโยชน์สู่สังคม (CSR after process) การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมในแบบของเทพผดุงพรมะพร้าวคือ สิ่งที่ทำเพื่อให้เกิดประโยชน์ด้วยการสร้างคุณค่าของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจากการดำเนินงานของบริษัท และทำให้สังคมและชุมชนโดยรอบมีการพัฒนาขึ้นไปพร้อมๆ กันทั้งสองส่วน
“การดำเนินธุรกิจของเราแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป เพราะเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการทำกำไรสูงสุด โดยผูกพันธกิจของการดำเนินงานไว้กับความรับผิดชอบที่มีต่อผู้ถือหุ้นเป็นหลักเพียงอย่างเดียว และปล่อยให้ความรับผิดชอบอื่นๆ เป็นไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนด แต่เราให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบต่อบริบทต่างๆ ของสังคม ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอันเนื่องมาจากการดำเนินธุรกิจของเรามาเป็นอันดับหนึ่ง
ด้วยปณิธานที่มุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งของการวางรากฐานของสังคมไทยให้แข็งแกร่ง เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต เราเชื่อมั่นว่า การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ และแบ่งปันองค์ความรู้สู่ผู้อื่นที่โอกาสยังไปไม่ถึง จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด ซึ่งรากฐานสำคัญของการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ ก็คือ องค์ความรู้ ซึ่งต้องเกิดจากการสนใจใฝ่หาความรู้อันเป็นบันไดขั้นต้นนั่นเอง เช่นเดียวกับเด็กและเยาวชนที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่จะเติบโตไปเป็นไม้ใหญ่เพื่อค้ำจุนประเทศชาติในวันข้างหน้า หากไม้นั้นไม่ได้รับการทำนุบำรุงที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยก็จะแคระแกร็นไม่สมบูรณ์แข็งแรง เมื่อนำไปก่อสร้างเป็นเสาค้ำยันก็จะพังทลายลงได้โดยง่าย ด้วยเหตุนี้เราจึงให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนการใฝ่หาความรู้ของเด็กและเยาวชนของเราเป็นอย่างยิ่ง” นายเกียรติศักดิ์ กล่าว
แต่ในความเป็นจริง การเข้าถึงการศึกษาในทุกบริบทของสังคมก็ไม่ได้เป็นไปโดยเท่าเทียมกัน ยังมีเด็กๆ ในถิ่นทุรกันดาร หรือแม้แต่เขตเมืองบางแห่งที่ยังคงขัดสน ขาดแคลนการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆซึ่งเป็นเสมือนข้อจำกัดในการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชน ตลอดจนบุคลากรครูให้ไม่สามารถพัฒนาตนเอง เพื่อให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกได้เทพผดุงพรมะพร้าวมองเห็นถึงช่องว่างในส่วนนี้ จึงได้ริเริ่มให้มี “โครงการน้อมเกล้าถวายพ่อหลวง”
ในการสนับสนุนทุนเพื่อพัฒนาการศึกษาให้แก่ 4 กลุ่มโรงเรียนที่ยังขาดแคลนได้แก่ โรงเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนในโครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร และศูนย์การศึกษาพิเศษ เพื่อเติมเต็มความต้องการขั้นพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคทางการศึกษา เช่น นำเงินที่ได้รับไปสร้าง ซ่อมแซม หรือต่อเติมอาคารเรียน สนามเด็กเล่น ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ หอพักโรงอาหาร ฯลฯ และการต่อยอดพัฒนาทักษะการเรียนรู้ เช่น จัดทำสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ อุปกรณ์สำหรับการพัฒนาทักษะเฉพาะ หรือการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ในกลุ่มเด็กพิการและเด็กพิเศษ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนเหล่านั้นในรูปแบบที่แตกต่างกัน
ในปี 2556 โครงการน้อมเกล้าถวายพ่อหลวง 86 โรงเรียน 86 พรรษา ก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบรอบในแต่ละปี (ตั้งแต่ปี 2551-2556) และสืบสานพระราชดำริด้านการศึกษา ซึ่งทรงให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ของการศึกษา วิชาความรู้ และผลแห่งการใช้วิชาความรู้ในเชิงปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กไทย ซึ่งในปีนี้บริษัทฯ ได้สนับสนุนทุนเพื่อพัฒนาการศึกษาให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลนทั้งสิ้นจำนวน86 แห่ง รวมเป็นจำนวนเงิน 17,200,000 บาท
นอกจากการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ผ่านระบบการศึกษาในกลุ่มเด็กและเยาวชนแล้ว บริษัทฯยังมีโครงการเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ในบริบทต่างๆ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการและสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทอย่างครบถ้วน ได้แก่...
การส่งเสริมให้ความรู้และพัฒนาเกษตรกรชาวสวนให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการเพิ่มผลผลิตด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร โดยความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ ในการนำเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับเกษตรกรรม เพื่อการเพิ่มผลผลิต ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน
การส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานมีการพัฒนาทักษะและเพิ่มพูนความรู้ เพื่อให้เทพผดุงพรมะพร้าวเป็นธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนกระบวนการผลิต
การสนับสนุนให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรมและคุณภาพสำหรับผู้บริโภค ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในบริเวณที่โรงงานตั้งอยู่ เพื่อความเป็นอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อม และสุขอนามัยที่เหมาะสม
การมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคมกับคู่ค้าทางธุรกิจ และองค์กรภาครัฐในโอกาสต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆอีกด้วย
“เมื่อเราดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับการดูแลผู้เกี่ยวข้องใกล้ตัวสม่ำเสมอ โดยคำนึงถึงการใช้ชีวิตของชุมชนโดยรอบ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ ปราศจากมลภาวะพิษจากโรงงาน ก็จะเป็นฐานรากที่แข็งแรงที่ทำให้เราสามารถขยายขอบข่ายของการพัฒนาองค์ความรู้สู่ภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้กว้างขึ้น ครอบคลุมถึงคู่ค้า ชุมชน รวมถึงผู้คนทั่วไป ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคของเทพผดุงพรมะพร้าว เพราะเราเชื่อมั่นว่า การจะนำพาองค์กรและสังคมไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้นั้น ต้องเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน บนพื้นฐานของการแสวงหาความรู้เพื่อการแบ่งปัน” นายเกียรติศักดิ์ กล่าวและเสริมว่า
“ในอนาคตเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสังคมมากขึ้น การเดินบนเส้นทางสายนี้ จะเป็นการยกระดับสังคมได้ดีกว่าซีเอสอาร์แบบเดิม ขณะที่การดำเนินงานในแบบแสวงหาผลกำไรสูงสุดก็ยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไป หากแต่การแบ่งปันผลกำไรส่วนหนึ่งมาทำสิ่งที่จะยกระดับสังคมให้ดีขึ้น
ด้วยการทำอย่างมุ่งมั่นและต่อเนื่อง ก็จะเพิ่มสัดส่วนที่สูงควบคู่กันไปด้วย เช่นนี้แล้วสังคมก็จะเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มั่นคงและยั่งยืนได้ในที่สุด”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ: อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ โทร. 0 2252 9871