กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
พิธีมอบรางวัล ESCAP – Sasakawa ซึ่งเป็นรางวัลที่ยกย่องแนวคิดและความมุ่งมั่นของบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความต้องการของผู้ทุพพลภาพ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ โดยมี 3 บริษัทที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่นในการจ้างงานผู้ทุพพลภาพเข้ารับรางวัลดังกล่าว
ธุรกิจที่เอื้อต่อผู้ทุพพลภาพนั้นถือเป็นแนวคิดใหม่ ที่ไม่ได้มองว่าผู้ทุพพลภาพเป็นผู้ที่แตกต่างจากคนทั่วไป แต่มองว่าพวกเขาเป็นแรงงานที่มีศักยภาพและยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเป็นผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่งที่มีกำลังซื้อ และจะส่งผลดีต่อธุรกิจได้ โดยผู้ทุพพลภาพนั้นนับเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั่วโลก และในทวีปเอเชียแปซิฟิกนั้นมีผู้ทุพพลภาพอยู่ถึง 650 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่สำหรับธุรกิจ ซึ่งหลายๆองค์กรยังมองข้าม ไม่เห็นความสำคัญ ซึ่งทำให้ผู้ทุพพลภาพรู้สึกว่าพวกเขายังไม่สามารถเข้าถึงสินค้าบริการที่ออกแบบมาสำหรับพวกเขาอย่างแท้จริง และยังส่งผลเสียต่อทั้งโอกาสทางธุรกิจอีกด้วย
ดร.โนลีน เฮเซอร์ เลขาธิการ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอสแคป กล่าวว่า “การที่เราให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้ทุพพลภาพนั้น เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาและช่วยพาพวกเขาออกจากความยากจน และให้พวกเขาได้รับรู้ถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อันเท่าเทียม และขณะเดียวกันธุรกิจต่างๆก็มีโอกาสเข้าถึงโอกาสใหม่ๆได้ด้วย”
ผู้ชนะรางวัล ประเภทองค์กรหรือธุรกิจระดับนานาชาติที่ดำเนินธุรกิจที่เอื้อต่อผู้ทุพพลภาพนั้น ได้แก่ บริษัทไวโปร ซึ่งเป็นบริษัทไอทีจากประเทศอินเดีย ซึ่งมีออฟฟิศอยู่ทั่วโลก และมีกรอบการดำเนินธุรกิจที่เน้นการจ้างงานผู้ทุพพลภาพอย่างชัดเจน โดยมร. ไอแซค จอร์จ รองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคล ของบริษัท กล่าวว่า “เรามีกรอบการทำงานที่เน้นจ้างงานผู้ทุพพลภาพมาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ และได้รับการตอบรับอย่างดี จากทั้งพนักงานและลูกค้าของเรา”
ผู้ชนะรางวัลประเภทองค์กรหรือธุรกิจระดับประเทศที่ดำเนินธุรกิจที่เอื้อต่อผู้ทุพพลภาพ ได้แก่ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สิงคโปร์ ออร์ชาร์ด ซิตี้ เซ็นเตอร์ ซึ่งมีการว่าจ้างผู้ทุพพลภาพและฝึกอบรมอาชีพให้ผู้ทุพพลภาพมาอย่างต่อเนื่อง “พนักงานของเราที่เป็นผู้ทุพพลภาพนั้น มีจำนวนถึง 13 เปอร์เซ็นต์ และเรายังตั้งใจที่จะเพิ่มจำนวนให้เป็น 20 เปอร์เซ็นต์ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า การมอบโอกาสแบบนี้ พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าสังคมที่เอื้อเฟื้อต่อกัน ส่งผลดีต่อธุรกิจของเรา” มร. จักดีพ ธาคราล ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมกล่าว
ผู้ชนะรางวัลประเภทผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่เอื้อต่อผู้ทุพพลภาพ ได้แก่ บริษัท Trash to Cash ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ที่ประเทศอินเดีย โดยมีแนวคิดในการใช้วัตถุเหลือใช้จากโรงงานมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้า นางสาวมาดูมิตา ปูริ ซีอีโอ ของบริษัทกล่าวว่า “พนักงานของเราจำนวนถึง 65 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ทุพพลภาพ ซึ่งเมื่อนำมารวมกับแนวคิดของเราแล้ว เราไม่ได้มองว่าเป็นธุรกิจที่ทำกำไรมหาศาล แต่ว่านี่คือธุรกิจที่ยั่งยืน” โดยจากการชนะรางวัลครั้งนี้ Trash to Cash จะได้รับรางวัลเงินสดมูลค่าระหว่าง 50,000 ถึง 100,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อนำไปขยายธุรกิจให้ครอบคลุม 10 เมืองใหญ่ทั่วประเทศอินเดีย
รางวัล ESCAP – Sasakawa ที่เป็นรางวัลที่ยกย่องแนวคิดและความมุ่งมั่นของบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความต้องการของผู้ทุพพลภาพ จัดตั้งขึ้นโดย คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก แห่งสหประชาชาติ (UN ESCAP) มูลนิธินิปปอน (The Nippon Foundation) และศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APCD)
(ภาพที่ 1) นางนันดา ไกรฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสังคม คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก หรือยูเอ็นเอสแคป (ที่ 2 จากซ้าย) ในพิธีมอบรางวัล ESCAP-Sasakawa ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย กับผู้ชนะทั้ง 3 ประเภท (จากซ้ายไปขวา)
- มร. ไอแซค จอร์จ รองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ไวโปร จากอินเดีย ผู้ชนะรางวัล ประเภทองค์กรหรือธุรกิจระดับนานาชาติที่ดำเนินธุรกิจที่เอื้อต่อผู้ทุพพลภาพ (ซ้ายสุด)
- นางสาวมาดูมิตา ปูริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแทรชทูแคช จากอินเดีย ผู้ชนะรางวัลประเภทผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่เอื้อต่อผู้ทุพพลภาพ (ที่ 3 จากซ้าย)
- มร. จักดีพ ธาคราล ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สิงคโปร์ ออร์ชาร์ด ซิตี้ เซ็นเตอร์ จากสิงคโปร์ ผู้ชนะรางวัลประเภทองค์กรหรือธุรกิจระดับประเทศที่ดำเนินธุรกิจที่เอื้อต่อผู้ทุพพลภาพ (ที่ 4 จากซ้าย)
(ภาพที่ 2 จากซ้ายไปขวา)
1. มร. อาคิ นิโนมิยะ ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก
2. มร. จักดีฟ ธาคราล, ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สิงคโปร์ ออร์ชาร์ด ซิตี้ เซ็นเตอร์
3. นางนันดา ไกรฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสังคม คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก หรือยูเอ็นเอสแคป
4. นางสาวมาดูมิตา ปูริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแทรชทูแคช
5. มร. ไอแซค จอร์จ รองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ไวโปร
6. มร.ชูอิชิ โอโน่ ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธินิปปอน