กรุงเทพ--8 ก.ค.--ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย)
ไมโครซอฟท์เปิดเวบไซต์ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี 2000 สำหรับระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กร ย้ำโปรแกรมประยุกต์ตระกูล “ออฟฟิศ” ทั้งเก่าและใหม่ผ่านการทดสอบสามารถบันทึกและคิดคำนวณวันเดือนปีได้ถูกต้องแม่นยำในปี 2000 และหลังจากนั้นเตือนผู้ใช้อย่าประมาทตรวจสอบแฟ้มข้อมูล (Uer Files) บนโปรแกรมประยุกต์เป็นพิเศษก่อนใช้งาน
มร. จอห์น ดีวาน รองประธานฝ่ายเดสก์ท็อป แอพพลิเคชั่น บริษัท ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงปัญหาเครื่องคอมพิวเตอร์ปี 2000 และผลกระทบต่อซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ว่า "ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไมโครซอฟท์ได้คำนึงถึงปัญหาปี 2000 ในการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์มาโดยตลอด และกำหนดให้ความสามารถในการใช้งานหลังปี 2000 เป็นคุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งที่จำเป็นต้องมีในซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ด้วย สำหรับโปรแกรมประยุกต์ในตระกูล “ไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ” แม้แต่รุ่นที่ออกมาก่อนหน้านี้ทุกรุ่น ก็ได้มีการทดสอบคุณสมบัติการใช้งานรองรับปี2000 ไว้แล้วอย่างละเอียดจนมั่นใจก่อนนำออกสู่ตลาด ส่วนโปรแกรม “ออฟฟิศ 97” ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดสำหรับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ และ “ออฟฟิศ98” สำหรับระบบปฏิบัติการแมคอินทอช ได้ผ่านการทดสอบมาแล้วเช่นกัน และรับประกันได้ว่าสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ในปี 2000 และหลังจากนั้นอย่างแน่นอน"
คุณสมบัติพิเศษของโปรแกรม "ออฟฟิศ 97" ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาปี 2000 โดยเฉพาะ ได้แก่
1. การเก็บบันทึกข้อมูลวันเดือนปีได้ในขอบเขตที่กว้างขวาง
2. การบันทึกวันเดือนปีในอนาคตที่ห่างไกลออกไปมาก ๆ
3. การเลือกใช้รูปแบบการบันทึกวันเดือนปีเป็นเลขเต็มสี่หลักเพื่อป้องกันความผิดพลาด
4. นอกจากนี้ "ออฟฟิศ97" บนวินโดวส์ และ "ออฟฟิศ98" บนแมคอินทอช ยังมีสามารถแยกแยะวันเดือนปีที่ลงท้ายด้วยเลขสองหลักด้วยสูตรพิเศษ ได้แก่ 00 ถึง 29 หมายถึงปี 2000 ถึง 2029 และ 30 ถึง 99 หมายถึง 1930 ถึง 1999
5. สำหรับโปรแกรม “ออฟฟิศ 97” ยังอนุญาตให้ผู้ใช้กำหนดรูปแบบการตีความเลขสองหลักในโปรแกรม “เอ็กเซล 97” ได้เองตามความต้องการ (Customization) และมีเครื่องมือ Wizard ที่ช่วยแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับวันเดือนปีในแฟ้มข้อมูลเก่า ๆ ได้โดยอัตโนมัติ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโปรแกรม “เอ็กเซล 97” โดยเฉพาะ สามารถเปิดค้นได้ที่หัวข้อ "Year 2000 Wizards for Microsoft Excel97" บนเวบไซต์ Knowledge Base ที่ http://support.microsoft.com/support/kb/articles/Q176/9/43.asp
อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษในโปรแกรมตระกูลออฟฟิศ ได้แก่ ตัวแฟ้มข้อมูลของผู้ใช้ (User Files) เช่น ข้อมูลบนโปรแกรมเวิร์ด, เอ็กเซล, เพาเวอร์พอยท์ และ แอกเซส ซึ่งโดยปกติแล้วจะสามารถทำงานได้เป็นปกติ แต่ในกรณีที่สงสัยว่าแฟ้มข้อมูลอาจจะมีการตีความเลขสองหลักในข้อมูลวันเดือนปีคลาดเคลื่อน ขอแนะนำให้ผู้ใช้ตรวจสอบทบทวนข้อมูลที่เกี่ยวกับวันเดือนปีของเอกสารบนโปรแกรมออฟฟิศอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยเฉพาะโปรแกรม Spreadsheet และ Macros ที่อาจเป็นไปได้ว่าผู้ออกแบบโปรแกรมได้กำหนดการตีความเลขสองหลักไว้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนหน้านี้แล้ว แต่ในอนาคตขอแนะนำให้ใช้เลขเต็มสี่หลักในการบันทึกข้อมูลวันเดือนปีทั้งหมดเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการคิดคำนวณข้อมูลวันเดือนปีผิดพลาดเป็นการถาวร
เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก้ผู้ใช้ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ในการเตรียมตัวรับมือกับปัญหาปี 2000 อย่างเต็มที่ ไมโครซอฟท์ได้จัดทำเวบไซต์พิเศษขึ้นในชื่อว่า Microsoft Year 2000 Resource Center ซึ่งจะให้ข่าวสารข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับปัญหาคอมพิวเตอร์ปี 2000 และผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ อีกทั้งยังมีข้อมูลเกี่ยวกับพันธมิตรทางธุรกิจของไมโครซอฟท์อีกหลายแห่งที่สามารถให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาปี 2000 และเครื่องมือช่วยตรวจสอบว่าเอกสารบนโปรแกรมออฟฟิศของผู้ใช้สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องใน 2000 และหลังจากนั้นหรือไม่อีกด้วย
"ในอนาคต ไมโครซอฟท์จะพยายามปรับปรุงโปรแกรม “ออฟฟิศ” รุ่นใหม่ ๆ ให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้นในการจัดการกับปัญหาปี 2000 โดยหน้าต่างวันที่ (Date Window) จะกลายเป็นตัวควบคุมระบบปฏิบัติการที่อนุญาตให้ผู้จัดการระบบ (Administrator) หรือผู้ใช้ (User) กำหนดรูปแบบการตีความตัวเลขวันเดือนปีสองหลักในโปรแกรมประยุกต์ออฟฟิศได้เองทั้งหมด และจะคิดค้นเทคโนโลยีพิเศษใหม่ ๆ ที่สามารถจัดการข้อมูลวันเดือนปีได้อย่างถูกต้องและสามารถบอกได้ทันทีว่าผู้ใช้ต้องการบันทึกปีคริสตศักราชใด" มร. ดีวาน กล่าว
ไมโครซอฟท์ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2518 และเป็นผู้นำการพัฒนาและการตลาดของซอฟต์แวร์สำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer-PC) ทางบริษัทฯ มีซอฟต์แวร์หลายประเภทให้เลือกใช้ทั้งสำหรับที่ทำงานและที่บ้าน ทั้งนี้ ซอฟต์แวร์ทุกตัวพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้ได้รับความสะดวกในการใช้งานและประโยชน์สูงสุดจากเครื่องพีซี ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) เป็นผู้พัฒนาและขายสินค้าไมโครซอฟท์ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในประเทศไทย และมีบริการหลังการขายให้แก่ผู้ซื้อลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้อง ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ ได้ที่ โทร. 632 0860-3 และ 632 0255-7--จบ--