สพช.หนุนฟาร์มหมูผลิตก๊าซ ตั้งเป้าขยายทั่วประเทศ ทดแทนเชื้อเพลิงได้ 900 ล้านบาท/ปี

ข่าวทั่วไป Thursday March 5, 1998 13:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--5 ก.พ.--สพช.
สพช.ส่งเสริมพลังงานจากขี้หมู แทนก๊าซหุงต้ม ปั่นไฟ สามารถใช้ในครัวเรือและฟาร์มเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งช่วยลดปัญหามลพิษจากน้ำเน่าเสีย และกลิ่นเหม็นกวนชาวบ้าน หากขยายทั่วประเทศจะทดแทนพลังงานได้ 900 ล้านบาทต่อปี
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ว่า ถึงปัจจุบัน สพช.ได้สนัสนุนเงินจำนวน 123.7 ล้านบาท แก่สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 10.6 ล้านบาท แก่สถาบันวิจัยและพัฒนาส่งเสริมปัจจัยการผลิต กรมส่งเสริมการเกษตร ในโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โดยมีผู้ร่วมโครงการเป็นฟาร์มขนาดเล็ก กลาง ใหญ่จากภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง
สำหรับเงินลงทุนเพื่อติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพในโครงการระยะที่ 2 นั้นมาจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นค่าใช้จ่ายในการให้คำปรึกษาและติดตามดูแล ส่วนที่ 2 ให้เงินสนับสนุนในรูปของการเพิ่มผลตอบแทนต่อการลงทุนร้อยละ 33 ส่วนเจ้าของฟาร์มต้องลงทุนส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 67 เป็นค่าก่อสร้างระบบ ค่าใช้จ่ายในการใช้งานและบำรุงรักษาทั้งหมด
ปัจจุบันหน่วยบริการก๊าซชีวภาพ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ส่งเสริมให้มีการติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มขนาดกลางและใหญ่ไปแล้ว 10,000 ลูกบาศก์เมตร เทียบเท่าความสามารถรับมูลหมู 60,000 ตัว สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 1.8 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เทียบเท่ากับก๊าซหุงต้ม (LPG) 0.8 ล้านกิโลกรัมต่อปีก๊าวหุ้นต้มในปัจจุบันราคากิโลกรัมละ 13.4 บาท คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 10.72 ล้านบาทต่อปี โดยมีฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการคือ ปากช่องฟาร์ม อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เอส.พี.เอ็ม.ฟาร์ม บุญมีฟาร์ม อภิชาติฟาร์ม เค.พี.เคฟาร์ม อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี และฟาร์มเบทาโกรเซ็นทรัล จ.พิษณุโลก คิดเป็นเงินลงทุนทั้งหมด 39.7 ล้านบาท เป็นส่วนของกองทุนฯ 11.28 ล้านบาท
ดร.ปิยสวัสดิ์ เปิดเผยว่า โครงการระยะที่สอง (2541-2545) ได้ตั้งเป้าหมายได้ติดตั้งระบบก๊าวชีวภาพให้ได้อีก 40,000 ลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะต้องลงทุนทั้งหมด 160 ล้าน จะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 7.2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สามารถทดแทนก๊าซหุงต้มได้ประมาณ 3.3 ล้านกิโลกรัมต่อปี หรือผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 8.6*106 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ปี ช่วยบำบัดน้ำเสียได้ประมาณ 2.9 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือบำบัดความสกปรกในรูปของ COD ได้ปีละไม่น้อยกว่า 40 ล้านกิโลกรัม และผลิตปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดินได้ประมาณ 26 ล้านกิโลกรัมต่อปี คิดเป็นเงินที่ได้จากโครงการประมาณ 70 ล้านบาทต่อปี หรือ 1,050 ล้านบาท ตลอดอายุการใช้งาน 15 ปี ทั้งนี้ยังไม่ได้รวมผลตอบแทนจากการบำบัดน้ำเสีย
"การผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์จะได้ก๊าซชีวภาพมาใช้แทนพลังงานจากก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) น้ำมันเชื้อเพลิง และพลังงานไฟฟ้า ได้เป็นอย่างดี และยังเป็นการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ คือสามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดภาวะเรือนกระจก ขจัดมลภาวะจากกลิ่นและแมลงวัน รวมทั้งลดมลพิษในรูปของสารอินทรีย์ (BOD) ได้มากกว่าร้อยละ 90 ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาน้ำในแม่น้ำลำคลองเน่าเสียได้มาก นอกจากนี้ยังได้ปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดีอีกด้วย" ดร.ปิยสวัสดิ์ กล่าว
อนึ่ง ระบบก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ใช้เทคโนโลยีที่อาศัยกลุ่มของจุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ต้องการออกซิเจน หมักย่อยสลายสารอินทรีย์ในมูลสัตว์ ซึ่งอยู่ในรูปของเหลวในสภาพไร้อากาศ (anaeaobic digestion) การทำงานของจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ อย่างต่อเนื่องกัน ทำให้สารอินทรีย์ถูกย่อยสลายและลดปริมาณลง และเปลี่ยนเป็นก๊าซชีวภาพซึ่งเป็นก๊าซผลสมระหว่างมีเธน (CH4) กับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในอัตราส่วนประมาณ 60:40 ก๊าซผสมนี้ติดไฟได้ดี จึงเป็นพลังงานให้ความร้อน แสงสว่าง และใช้เป็นเชื้อเพลิงเดินเครื่องยนต์ได้ นอกจากนี้ระบบการหมักแบบไร้ออกซิเจนจะลดปริมาณสารอินทรีย์ในรูปของ COD (chemical oxygen demand) และ BOD (biological oxygen demand) ที่อยู่ในสารหมักได้ร้อยละ 70-90
จากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อปี พ.ศ.2538 พบว่าทั่วประเทศมีสุกรประมาณ 5.4 ล้านตัว หากฟาร์มร้อยละ 50 ใช้การบำบัดน้ำเสียแบบใช้เทคโนโลยีก๊าซชีภาพ จะทำให้ได้ผลผลิตเป็นก๊าซหุ้นต้ม 118,800 กก./วัน คิดเป็นมูลค่า 1.5 ล้านบาท หรือผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 12.4 เมกกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่า 0.76 ล้าน และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ 0.95 ล้าน กก./วัน คิดเป็นมูลค่า 0.95 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าที่ผลิตได้ 1.7-2.5 ล้านบาท/วัน หรือปีละประมาณ 620-912 ล้านบาท--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ