กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--ปตท.
สรุปรายงานสถานการณ์น้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนน้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 96.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบ เบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 111.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 108.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 0.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 117.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 128.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ :
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- บริษัท TranCanada Corp. รายงานท่อขนส่งน้ำมันดิบขนาด 700,000 บาร์เรลต่อวัน จากเมือง Cushing, รัฐ Oklahoma ไปยัง Port Arthur, รัฐ Texas จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 3 ม.ค. 57 หากท่อดังกล่าวเปิดดำเนินการจะสามารถขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่งเก็บน้ำมันดิบไปยังที่ตั้งของกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันบริเวณริมชายฝั่งอ่าวเม๊กซิโก ได้สะดวกยิ่งขึ้น
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 3/56 ครั้งที่ 2 อยู่ที่ 3.6% โดยที่การคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้อยู่ที่ระดับ 2.8% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 3%
- Institute for Supply Management (ISM) รายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index - Manufacturing PMI) ของสหรัฐฯเดือน พ.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 57.3 จุด (เพี่มขึ้นจากเดือนก่อน +0.9 จุด) สูงสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 พ.ย. 56 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 23,000 ราย มาอยู่ที่ระดับ 298,000 ราย ลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน และลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- ผลการประชุมกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก (OPEC) ประกาศคงโควตาการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มที่ระดับ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุมประจำปีในวันที่ 4 ธ.ค. 56 ทั้งนี้การประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 11 มิ.ย. 57
- สำนักข่าว Bloomberg รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียในเดือน พ.ย. 56 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.4% อยู่ที่ระดับ 10.61 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ภายหลังสิ้นสุดยุคสหภาพโซเวียต จากปริมาณการผลิตน้ำมันในส่วนของกลุ่มบริษัทลงทุนข้ามชาติ เช่น Total, Statoil, Exxon, Shell, Mitsui & Co., Mitsubishi Oil และ ONGC
- บริษัท UK Oil Movements ของอังกฤษรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศ OPEC (ไม่รวมแองโกลา และเอกวาดอร์) เฉลี่ย 4 สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ธ.ค. 56 เพิ่มขึ้น 710,000 บาร์เรล จากช่วง 4 สัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 24.22 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดใช้จ่ายของผู้บริโภค (Consumer Spending) ไตรมาส 3/56 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากไตรมาสก่อน 1.4% เพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 4/52
- กระทรวงแรงงานญี่ปุ่นรายงานเงินเดือนที่ไม่นับค่าล่วงเวลาและโบนัสในเดือน ต.ค. 56 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.4% เป็นการลดลงเดือนที่ 17 ติดต่อกัน สวนทางกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นหลังอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี ทั้งยังจะมีการขึ้นภาษีขายในเดือน เม.ย. 57
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น จากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ขณะที่อัตราว่างงานสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี ส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังวิตกว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้นนั้นจะนำไปสู่การลดมาตรการผ่อนปรนเชิงเชิงปริมาณโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งยังเป็นเพดานไม่ให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นมากนัก ด้านอุณหภูมิในรัฐ North Dakota ทางตอนเหนือของสหรัฐฯ และเป็นหนึ่งในรัฐที่มีการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน หรือ Shale Oil มากที่สุดในสหรัฐฯ ลดลงอย่างฉับพลันจากพายุหิมะ ซึ่งคาดว่าอุณหภูมิลดลงต่ำกว่า -40 องศาเซลเซียสแล้วในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีหิมะปกคลุมแล้วกว่า 8 นิ้ว ส่งผลให้ไฟฟ้าดับบางส่วน ถนนหลายเส้นทางใช้การไม่ได้ และส่งผลให้อัตราการผลิตน้ำมันดิบลดลง ขณะที่รัฐ Texas ทางตอนใต้ของประเทศมีฝนปนหิมะตกลงมา แต่ยังไม่มีรายงานผลกระทบต่อแหล่งผลิตน้ำมันดิบ ทางด้านแนวโน้มน้ำมันดิบ หัวหน้าฝ่ายสินค้าโภคภัณฑ์ของ Goldman Sachs นาย Jeffrey Currie กล่าวว่าอุปสงค์น้ำมันดิบของสหรัฐฯกำลังเติบโตสูงกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาอาทิ จีนและอินเดีย เป็นครั้งแรกในทศวรรษ ทั้งนี้นาย Currie มองว่าการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันดิบในอนาคตอันใกล้จะกลับมาทางด้านฝั่งสหรัฐฯ ขณะที่อุปสงค์น้ำมันดิบในประเทศกำลังพัฒนาจะลดลง เนื่องจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบ Shale Oil ปรับตัวสูงขึ้นในสหรัฐฯจะส่งผลกดดันให้ราคาน้ำมันดิบในประเทศอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะสนับสนุนภาคเศรษฐกิจของประเทศในทิศทางที่ดีขึ้น และจะส่งต่อเนื่องให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) หยุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ QE3 ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งตัวขึ้น และจะทำให้ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบ (อ้างอิงด้วยค่าเงินดอลลาร์) มีต้นทุนการนำเข้าแพงขึ้นในสกุลเงินของตนเอง และจะส่งผลต่ออุปสงค์ในประเทศเหล่านั้นลดลง ทั้งนี้ Goldman Sachs คงคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI จากการคาดการณ์ครั้งก่อนไว้ที่ 106 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ ในปี 57 ส่วนในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent, WTI และ Dubai มีแนวรับแนวต้านทางเทคนิคอยู่ที่ 110.22 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล – 113.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, 95.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล – 99.92 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ 107.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล –108.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้น จากอุปสงค์ในตลาดเพิ่มขึ้นจาก บริษัท Z Energy ของนิวซีแลนด์มีแผนซื้อน้ำมันเบนซิน และดีเซลแบบเทอมจากผู้ประกอบการธุรกิจกลั่นน้ำมันของเกาหลีใต้ ปริมาณรวม 600 ล้านลิตร หรือ 3.7 ล้านบาร์เรล ส่งมอบตั้งแต่ปี 57 - กลางปี 58 นอกจากนี้ Platts คาดตลาดน้ำมันเบนซินในภูมิภาคเอเชียจะตึงตัวตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไปเนื่องจากประเทศต่างๆ เริ่มเก็บสำรองเพื่อรองรับอุปสงค์จากการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงคริสต์มาส และวันหยุดสิ้นปี นอกจากนี้ International Enterprise Singapore รายงานปริมาณสำรองน้ำมัน Light distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ธ.ค. 56 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 545,000 บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 10.07 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของยุโรปบริเวณ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ธ.ค. 56 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 340,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 5.45 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันเบนซินมีแนวรับแนวต้านทางเทคนิคอยู่ที่ 117.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล –118.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์น้ำมันดีเซลในภูมิภาคเอเชียแข็งแกร่ง อาทิ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และฮ่องกงอินโดนีเซียและจอร์แดนประมูลซื้อน้ำมันดีเซลปริมาณรวม 3.8 ล้านบาร์เรล ส่งมอบช่วงเดือน พ.ย. 56 - ก.พ. 57 และบริษัท Total แจ้งว่าโรงกลั่นน้ำมัน Antwerp (360,000 บาร์เรล) ประเทศเบลเยียมได้ปิดดำเนินการฉุกเฉินหน่วย Residue Hydrotreater (95,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Catalytic Reformer (60,000 บาร์เรลต่อวัน) อย่างไม่มีกำหนดภายหลังจากเหตุการณ์ระเบิดขึ้นที่หน่วย Catalytic Reformer ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมัน Middle distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ธ.ค. 56 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.31 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 7.99 ล้านบาร์เรล และจาก Formosa Petrochemical Corp. (FPC) ของไต้หวันออกประมูลขายน้ำมันดีเซลค่ากำมะถัน 0.05% ปริมาณรวม 720,000 บาร์เรล และน้ำมัน Jet 240,000 บาร์เรล กำหนดส่งมอบปลายเดือน ม.ค. 57 ในสัปดาห์นี้ราคาดีเซลมีแนวรับแนวต้านทางเทคนิคอยู่ที่ 127.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล –128.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล