กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--อาร์คเวิลด์ไวด์
“...ขณะนี้ยังมีบุคคลอีกเป็นจำนวนมากที่มีความตั้งใจจริง มีศรัทธาขวนขวายหาความรู้เป็นวิชาชีพใส่ตน แต่ประสบปัญหาไม่มีความรู้พื้นฐานและไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาวิชาชีพระดับต่างๆได้ หากมีช่องทางช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ ให้มีความรู้วิชาชีพที่เขาปรารถนาย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้...”
พระราชกระแสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ อดีตเลขาธิการมูลนิธิพระดาบส
จากกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปีพุทธศักราช 2518 จึงเกิดเป็น ‘โครงการพระดาบส’หนึ่งในโครงการส่วนพระองค์ที่มีจุดมุ่งหมายในการมอบโอกาสทางการศึกษาวิชาชีพให้แก่บุคคลผู้มีความตั้งใจและอยากหาความรู้ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือไม่มีคุณสมบัติที่จะเข้าศึกษาตามโรงเรียนทั่วๆ ไปได้ จนปัจจุบันโครงการได้พัฒนาและขยายกิจการเป็น ‘มูลนิธิพระดาบส’โดยมี ‘โรงเรียนพระดาบส’ทำหน้าที่สำคัญในการมอบโอกาสที่สองของชีวิตให้ศิษย์พระดาบสได้มีความรู้ติดตัวไปประกอบสัมมาอาชีพแล้วกว่า 37 รุ่น ในทุกๆ ปีนั้น จะมีพลังศรัทธาจากหน่วยงานเอกชน ภาครัฐและประชาชน ร่วมโดยเสด็จพระราชกุศลด้วย กำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญา และกำลังกาย เพื่อให้มูลนิธิและโรงเรียนพระดาบสสามารถดำเนินและขยายกิจการไปในทุกๆ ด้าน
บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน)ผู้ประกอบธุรกิจค้าน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปคุณภาพสูง และผู้ให้บริการสถานีบริการน้ำมัน “พีที” กว่า 700 สาขาทั่วประเทศ หนึ่งในหน่วยงานเอกชนที่ได้เข้ามาสนับสนุนมูลนิธิพระดาบสผ่านโครงการ“พีที เติมพลังสัมมาชีพ”เพื่อสนับสนุนมูลนิธิพระดาบสในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนอกจากจะให้การสนับสนุนในเรื่องของทุนการศึกษาโดยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริจาคผ่านการเติมน้ำมันแล้ว ยังทำการสื่อสารประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อให้มูลนิธิพระดาบสเป็นรู้จักมากขึ้น สามารถสื่อสารไปถึงปลายทางนั่นคือ ผู้ที่ขาดโอกาสในการศึกษาวิชาชีพได้มากขึ้น ทั้งนี้เพราะพีทีจีได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการให้โอกาสทางการศึกษาวิชาชีพที่จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญไปได้ เพราะหากกล่าวถึงสถานการณ์การศึกษาในประเทศไทยในแง่ของสายอาชีพจะพบว่า เด็กของเราเมื่อจบออกมาแล้วจะไม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน เพราะเกิดจากกรอบความเชื่อที่ว่า คนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้นจะต้องเรียนสูงๆ และมีใบปริญญา จึงทำให้เด็กที่เรียนจบมาแล้วก็เรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้นต่อไปเรื่อยๆ แต่ปัญหาก็คือ เมื่อเรียนสูงขึ้น ขีดความสามารถหรือความสามารถของเด็กที่ผ่านการเรียนไม่ได้ตามไปกับชั้นที่เรียน เมื่อเด็กจบออกมายังไม่สามารถทำงานได้เลยต้องเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ในที่ทำงาน ทั้งนี้เป็นเพราะโลกของการเรียนกับโลกของการทำงานไม่ได้ไปด้วยกัน หรือเรื่องที่เรียนไม่สอดคล้องกับการทำงานนั่นเอง
ดร. สมยศ เจตน์เจริญรักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพระดาบส กล่าวถึงปัญหานี้ได้อย่างน่าสนใจว่า “โอกาสของนักเรียนวิชาชีพในไทยดีกว่าที่อื่นเยอะ เรามีจำนวนโรงเรียนที่เพียงพอต่อความต้องการและโรงเรียนมีเครื่องไม้เครื่องมือครบ แต่เป็นที่สงสัยว่าทำไมเด็กของเราจบไปแล้วทำงานไม่ได้ นั่นแสดงให้เห็นว่า เด็กไทยมีโอกาสที่จะได้เรียน แต่โอกาสนั้นไม่ได้สร้างโอกาสต่อนั่นเอง คนเราจะทำงานได้จะต้องมีความสามารถสามวงคือ หนึ่ง ความสามารถพื้นฐานของชีวิต ต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ แก้ปัญหาเป็น รู้จักชีวิตที่พอเพียง และมีความสุขในการมีชีวิตอยู่ สอง มีขีดความสามารถในตัวอาชีพ มีพื้นฐานอาชีพที่ดี ได้รับการฝึกฝน และมีความสามารถเฉพาะทางในอาชีพนั้นๆ และสาม รู้จักคุณค่าของงานที่ตัวเองทำ ทำงานแล้วต้องไม่ทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน ซึ่งตรงนี้ระบบการศึกษาของเราไม่มีความเข้มแข็งและชัดเจน คำว่าเรียนเหมือนเป็นเพียงกระบวนการที่มีนักเรียน มีครู มีห้องเรียน มีชั่วโมงเรียน และมีสอบ สอบผ่านก็จบ ทั้งที่ความจริงแล้วการเรียนควรเป็นการกำหนดที่ปลายทางว่า นักเรียนที่จบไปแล้วจะทำอะไรได้บ้าง เป็นอะไรได้บ้าง แล้วสอนให้สัมฤทธิ์ผลตามนั้นมากกว่าหรือเปล่า”
ความเป็นมืออาชีพคือพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการก่อตั้งโรงเรียนพระดาบส นักเรียนที่จบไปต้องรู้จริงในสิ่งที่ทำ รู้ว่าทำถูกเป็นอย่างไร ทำผิดเป็นอย่างไร และต้องรับผิดชอบกับงานที่ทำไม่ให้เดือดร้อนกับผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมดร. สมยศ เจตน์เจริญรักษ์ กล่าวต่อไปว่า“ในหลวงได้พระราชทานโอกาสที่สองของชีวิตแก่คนที่อยากจะเรียน อยากจะมีอาชีพ แต่โอกาสครั้งที่หนึ่งได้หมดไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพราะปัญหาด้านทุนทรัพย์หรือจังหวะของชีวิตไม่เอื้อต่อการเรียนต่อ สำหรับโอกาสครั้งที่สองนี้ทรงพระราชทานให้ครบทุกอย่าง ทั้งหาครูที่มีความสามารถในวิชาชีพ พระราชทานเงินค่าเล่าเรียน อาหาร ที่พัก และเครื่องแต่งกาย เมื่อนักเรียนได้เข้ามาเรียนก็ไม่ต้องกังวลสิ่งใด เหลือเพียงอย่างเดียวคือตั้งหน้าตั้งตาเรียนให้ประสบความสำเร็จไปประกอบอาชีพได้ ศิษย์พระดาบสจึงมีโอกาสที่จะมีอาชีพ หาเงินเลี้ยงชีพได้อย่างสุจริต ได้มีครูที่ดี ได้มีเพื่อนและได้รู้จักคนมากมาย และที่สำคัญคือมีโอกาสได้รู้จักตัวเอง คนเราเมื่อเห็นคุณค่าของตัวเองก็จะไม่ทำผิด ไม่สร้างปัญหาให้กับสังคม จากการที่ทำงานมาพบว่าจริงๆ แล้วคนส่วนใหญ่เป็นคนดี แต่คนดีพวกนี้บางทีก็น่าสงสารตรงที่ช้ำมาตั้งแต่ครอบครัวคือ พอพ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงได้อย่างมีคุณภาพได้ เด็กก็เครียดแค้นชิงชังแล้วไปโทษสังคม เมื่อสังคมให้โอกาสเพื่อให้เขาไปทำงานได้อย่างสมศักดิ์ศรีก็คือ การให้โอกาสที่ดีที่สุด”
สำหรับการเรียนการสอนของโรงเรียนพระดาบส นักเรียนจะต้องเรียนอาทิตย์ละ 5 วัน วันละ 8 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลาหนึ่งปี ในช่วงสี่เดือนแรกโรงเรียนจะจัดให้นักเรียนทุกคนเรียนพื้นฐานของช่างทุกชนิด ฝึกฝีมือช่างเบื้องต้น อีกสามเดือนจะให้เลือกสาขาและฝึกทักษะตามสาขาที่ตนเองสนใจ ต่อจากนั้นอีกสองเดือนจะฝึกความชำนาญเฉพาะทาง เช่น เลือกช่างยนต์ก็จะเรียนเฉพาะลงไปว่าเรียนเครื่องยนต์เล็ก หรือเครื่องยนต์ใหญ่ ช่างเชื่อมก็เลือกว่าจะเชื่อมแก๊ส เชื่อมไฟฟ้า หรือเชื่อมอาร์กอน จากนั้นนักเรียนจะไปฝึกงานในสถานประกอบการอีกสองเดือน โดยครูจะเป็นผู้ไปคุยกับสถานประกอบการแต่ละที่ว่าต้องการช่างอะไร ความสามารถอะไร เพื่อในสองเดือนก่อนการฝึกงานนักเรียนจะได้ฝึกความสามมารถนั้นๆ โดยเฉพาะ เพื่อที่จะสามารถไปฝึกงานได้เต็มที่ พอฝึกงานเสร็จอีกหนึ่งเดือนสุดท้ายจะเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการทำงาน และสอบมาตรฐานฝีมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นอกจากนี้แล้วในทั้งปียังมีการเรียนทักษะทั่วไป ทักษะชีวิต ประวัติศาสตร์และศิลปะอีกด้วย
“จากการทำแบบสอบถามกับนายจ้างถึงความพึงใจในตัวศิษย์พระดาบส ผลออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจมาก สิ่งเหล่านี้ทำให้ครูดาบสอาสาหายเหนื่อยและมีแรงที่จะทำสิ่งนี้ต่อไป ขอบคุณพีทีที่ช่วยสื่อสารพันธกิจของเราให้ไปถึงปลายทางจริงๆ เรามีกำลังแค่นี้ก็อยากให้คนที่ขาดโอกาสได้เข้ามา ตลอดมาเราพยายามร่วมมือกับองค์กรเอกชนเพื่อสื่อความหมายตรงนี้ไปที่ปลายทางให้ได้มากที่สุด โรงเรียนจะพัฒนาการเรียนการสอนที่ให้เด็กได้มีโอกาสทำงานให้ได้มากที่สุด และจะนำทักษะความสามารถในอาชีพนั้นๆ มาเป็นแม่บทของการฝึกเด็ก และทำเป็นตัวมาตรฐานอาชีพต่อไป”ดร. สมยศ เจตน์เจริญรักษ์ กล่าวสรุป
ตัวแทนศิษย์พระดาบสรุ่นปัจจุบัน คำรณ เรงรัมย์ หัวหน้าศิษย์สาขาช่างยนต์ กล่าวถึงโอกาสที่ตนได้รับจากโรงเรียนพระดาบสว่า “ก่อนหน้านี้บวชเรียนอยู่จนจบ ม.6 คิดจะไปทำงานโรงงาน แต่พอดีได้รู้จักโรงเรียนจากรุ่นพี่ เขาว่าที่นี่เรียนฟรีและเป็นโรงเรียนของในหลวง พอได้เรียนก็ได้ความรู้เยอะมาก สามารถซ่อมเครื่องยนต์ รู้ระบบ และสามารถอ่านค่ามาตรฐานหลายๆ อย่างออก มั่นใจว่าจบไปไม่อดตายแน่นอน ฝันอยากเปิดร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์เล็กๆ ในหมู่บ้าน ดีใจที่ได้มาพึ่งใบบุญของในหลวง ต่อไปจะทำตัวให้ดีและตอบแทนสังคม เอาความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาสอนชาวบ้านต่อไป”
ด้าน กิตติพงษ์ วงศ์สุวรรณ ศิษย์พระดาบสสาขาช่างอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า “เรียนที่นี่ทำให้มีโอกาสด้านวิชาชีพไปเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต พบว่าตัวเองมีความรับผิดชอบมากขึ้น ตรงต่อเวลามากขึ้น จบไปก็สามารถเป็นช่างอะไรก็ได้เพราะรู้พื้นฐานของช่างทุกสาขา โอกาสที่ได้รับนี้เหมือนได้ชีวิตใหม่ เป็นโอกาสที่หาได้ยาก จึงอยากขอบคุณครูดาบสอาสาที่มาด้วยใจ ขอบคุณผู้ใหญ่ทุกท่านที่มีส่วนช่วยสนับสนุนมูลนิธิฯ และรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อประชาชนของท่าน”
นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการ ‘พีทีเติมพลังสัมมาชีพ’ ในปีแรกว่า“โครงการพีทีเติมพลังสัมมาชีพในปีแรกถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยพีทีได้ยอดบริจาคเพื่อสมทบทุนมูลนิธิพระดาบสทั้งหมด 17 ล้านบาทตามที่ตั้งเป้าหมายไว้โดยเงินก้อนแรกจำนวน 7 ล้านบาทนั้นพีทีได้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่วนเงินสมทบทุนอีก 10 ล้านบาทนั้น จะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในโอกาสต่อไป”
ทั้งนี้เงินบริจาคทั้งหมดนั้นมาจากเงินทุนตั้งต้นที่พีทีมอบให้จำนวน 2 ล้านบาท และตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา ลูกค้าผู้ใช้บริการสถานีบริการน้ำมันพีทีที่กระจายอยู่กว่า 700 สาขาทั่วประเทศก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริจาคครั้งนี้ โดยทุกครั้งที่เติมน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมันพีที รายได้ทุกๆ 5 สตางค์ต่อลิตร จะถูกนำเข้าสมบททุนกับมูลนิธิและโรงเรียนพระดาบส ภายใต้ โครงการ พีที เติมพลังสัมมาชีพ ในทันที
“สำหรับปีหน้าโครงการพีทีเติมพลังสัมมาชีพจะสนับสนุนเครื่องมือสำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียนพระดาบส เพื่อให้ศิษย์พระดาบสได้มีความคุ้นเคยกับเครื่องมือต่างๆ สำหรับการประกอบอาชีพของตน สุดท้ายนี้ต้องขอบคุณลูกค้าพีทีและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่มีส่วนร่วมให้โครงการนี้สามารถมอบโอกาสให้กับผู้คนได้อีกเป็นจำนวนมาก” นายพิทักษ์ กล่าวปิดท้าย