กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี
สื่อสร้างสุขจับมือเครือข่าย อบรมเยาวชนและเกษตรกรเครือข่ายสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนลุ่มน้ำโขงสร้างหนังสั้นรู้เท่าทันยาฆ่าหญ้า หวังลดการใช้สารเคมี เพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ นักวิชาการชี้กลยุทธ์พ่อค้า ลดแลกแจกแถม ทำให้แผ่นดินเต็มไปด้วยยาพิษ แนะทางออกย้อนกลับวิถีอินทรีย์ พัฒนาพึ่งพาตนเอง สิบพ่อค้าจะมาไหว้ชาวนา
วันที่ 7-8 ธันวาคม 2556 สื่อสร้างสุขอุบลฯโดยโครงการสื่อเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงความมั่นคงทางอาหาร จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพจับมือเครือข่าย ลงพื้นที่ชุมชนเครือข่ายสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนลุ่มน้ำโขง บ้านนานางวาน ตำบลม่วงใหญ่ อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี เพื่ออบรมการสร้างหนังสั้นรู้เท่าทันสารเคมีทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรและเยาวชนในเครือข่ายซึ่งครอบคลุมในพื้นที่อำเภอโพธิ์ไทรและอำเภอนาตาล โดยกลุ่มเป้าหมายให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 50 คน
นายสุชัย เจริญมุขยนันท ผู้อำนวยการสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี กล่าวว่าการอบรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกษตรกรผ่านรูปแบบการผลิตสื่อหนังสั้น ให้รู้เท่าทันพิษภัยของสารเคมีทางการเกษตรโดยเฉพาะยาฆ่าหญ้า และสารกำจัดศัตรูพืชอื่นๆ รวมทั้งมีทักษะการคิดบท ถ่ายทำ และตัดต่อเบื้องต้นจนสามารถผลิตหนังสั้นเกษตรอินทรีย์ออกมาเพื่อสื่อสารต่อสังคมได้ โดยมีวิทยากรมาให้ความรู้จากหลากหลายหน่วยงาน ก่อนจะแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติจริง เพื่อให้ได้สื่อวิดิทัศน์ จำนวน 4 เรื่องไปเผยแพร่ในชุมชน และผ่านสื่อต่างๆ
ดร.สังวาลย์ สมบูรณ์ อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี กล่าวว่าประเทศไทยใช้สารกำจัดวัชพืช หรือยาฆ่าหญ้าในปริมาณที่สูงมาก สารเคมีที่ใช้เป็นอันดับ 1 คือ ไกรโพเสต และพาราคอต ซึ่งมีชื่อทะเบียนการค้าคือยาฆ่าหญ้าหมาแดง ราวอัพ และกัมม็อกโซน สาเหตุที่เกษตรกรหันมาใช้สารเคมีเกิดจากรูปแบบการทำนาที่เปลี่ยนไป จากนาดำเป็นนาหว่าน และพฤติกรรมการทำนาของเกษตรกรจากชาวนา ชาวสวน เป็นผู้จัดการนา ผู้จัดการสวน ใช้เงินทำนาทำสวนมากกว่าใช้แรงงาน กลยุทธทางการค้าของบริษัทผลิตสารเคมีที่ใช้หลากหลายวิธีเพื่อให้ได้ขายสินค้า เช่น กลยุทธ์ลดราคา เปิดปุ๊บรับโชคปั๊บ ซื้อลังแถมลัง การโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ หรือติดป้ายโฆษณาที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี เช่น ติดตามต้นไม้รายทาง รวมทั้งมีเกษตรกรในหมู่บ้านมีอาชีพรับจ้างฉีดพ่นสารเคมีทั้งในรูปแบบกระเป๋าสะพายที่หลัง และลากสายติดปั๊มขนาดใหญ่ถัง ทำให้ชาวนาเข้าถึงสารเคมีทางการเกษตรได้ง่ายขึ้น ส่วนผลกระทบจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร มีทั้งต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ สิ่งที่น่าสนใจคือมีงานวิจัยพบว่าสถิติการฆ่าตัวตายในชุมชนเพิ่มขึ้นตามจำนวนร้านที่ขายสารเคมีทางการเกษตรในชุมชนด้วย
นางสาวชมสิริ ริ้วทอง นักวิชาการสาธารณสุข โรงพยาบาลโพธิ์ไทร กล่าวว่าด้านผลกระทบต่อสุขภาพสารเคมีทางการเกษตร โดยเฉพาะยาฆ่าหญ้า ยากำจัดวัชพืช ในระยะสั้นจะมีอาการผิดปกติในระบบประสาท เช่น วิงเวียน หน้ามืด อาเจียน เหนื่อยล้า ออกเสียงลำบาก ส่วนระยะยาวมีผลต่อระบบต่อมไร้ท่อทำให้น้ำเชื้ออสุจิมีจำนวนลดลง ส่งผลให้เป็นหมันหรือมีบุตรยาก ส่วนผู้หญิงก็ประสบภาวะแท้งหรือมีบุตรได้ยากเช่นกัน รวมทั้งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็งด้วย
นายปิยะทัศน์ ทัศนิยม เกษตรกรอินทรีย์ บ้านหนองมัง ตำบลโนนกลาง อำเภอสำโรง กล่าวว่าประเทศไทยมีพื้นที่ทำการเกษตรมากเป็นเป็นอันดับ 48 ของโลก แต่ใช้ยาฆ่าหญ้าเป็นอันดับ 4 ของโลก ใช้ยาฆ่าแมลงเป็นอันดับ 5 ของโลก แผ่นดินอาบไปด้วยยาพิษ ก่อนจะมาทำเกษตรตนเคยไปทำงานรับจ้างที่ภาคตะวันออก เห็นเรือส่งปุ๋ยมาในคันเดียวกัน แต่มาแยกเป็นสูตรต่างๆ เพื่อหลอกขายให้เกษตรกร ตอนนั้นเจ็บใจมาก ได้ตั้งใจไว้ว่าในชีวิตนี้จะต้องหาทางออกให้เกษตรกรให้ได้ จึงศึกษาหาความรู้จนพบว่าทางออกปัญหานี้คือการทำนาอินทรีย์ที่คนทำนาต้องมีอุดมการณ์ ความมุ่งมั่น ความใฝ่รู้ใฝ่เรียนในหลายๆเรื่อง เช่นเรื่องการตลาด การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า หรือรู้จักการเป็นพ่อค้าหรือผู้ประกอบการควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ต้องรู้จักสังเกต หาข้อมูล ทดลองปฏิบัติ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ หรือมีคุณสมบัติเหมือนนักวิทยาศาสตร์นั่นเอง
ปัจจุบันได้ทำนาและทำสวน โดยทำนาในพื้นที่ 60 ไร่ และทำสวนประมาณ 2 งาน มีรายได้จากการทำสวนมากกว่าทำนาหลายเท่า เช่น ปลูกหอมแดงขายปลีกให้แก่ห้างสรรพสินค้าในราคาตันละ 120,000 บาท กระเทียมตันละ 200,000 บาท ขายข้าวโดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่
"สิบพ่อค้าจะมาไหว้พ่อนา" สุภาษิตอีสานเป็นจริงแล้ว เมื่อเรามาทำเกษตรอินทรีย์ ผู้จัดการใหญ่จากกรุงเทพฯขึ้นเครื่องบินมาหาผม เรียกผมว่าอาจารย์ให้ผมตั้งราคาด้วยตัวเอง ต่างกับชาวนาทุกวันนี้ต้องยืนกุมเป้ากางเกงยอมให้พ่อค้าตั้งราคาเอาเปรียบ เสียศักดิ์ศรีชาวนาคนเลี้ยงแผ่นดิน" นายปิยะทัศน์กล่าวทิ้งท้าย
จากนั้นผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้เทคนิคการเขียนบท ถ่ายทำ และตัดต่อ และได้แบ่งกลุ่มลงมือปฏิบัติการถ่ายทำหนังสั้น โดยคนในชุมชนมีส่วนร่วมทั้งคิดบท นักแสดง ถ่ายทำ และตัดต่อ จนได้ผลงานหนังสั้น 4 เรื่อง เพื่อฉายให้คนในชุมชนดูก่อนจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
นายบุญจบ ทองชมภู ตัวแทนชุมชนกล่าวหลังจากชมหนังสั้นทั้ง 4 เรื่องว่าวันนี้รู้สึกชื่นชมเยาวชนและชาวบ้านทุกคนที่ได้ทำหนังสั้นออกมาแล้วสื่อสารให้เห็นโทษ พิษภัยของสารเคมีทางการเกษตร เห็นผลดีของการทำเกษตรอินทรีย์ได้ชัดเจนมาก เชื่อว่าหากเกษตรกรในอำเภอโพธิ์ไทรได้ดูหนังสั้นทั้ง 4 เรื่องแล้ว ต้องเปลี่ยนแนวคิดหันมาทำเกษตรอินทรีย์แน่นอน
ติดตามชมหนังสั้นดังกล่าวได้ทางช่อง sangsook channel V cable TV และ You tube ค้นหาช่อง sangsookubon