กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--ศศินทร์
ศศินทร์เผยเศรษฐกิจของภาคอีสานเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดี ย้ำเป็นขุมทรัพย์แห่งใหม่ของทุกธุรกิจที่ต้องการขยายการลงทุน เผยพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากอดีต มีกำลังซื้อสูงและไลฟ์สไตล์คล้ายคนกรุงเทพฯ มากขึ้น แนะกลยุทธ์การตลาดเพื่อเจาะใจลูกค้าในท้องถิ่น
ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) เปิดเผยว่า ในอดีตภาคอีสานเป็นเมืองเกษตรกรรมที่ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน จึงทำให้คนอีสานเดินทางมาทำงานในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ๆ แต่ปัจจุบันนี้วิถีชีวิตของผู้คนในภูมิภาคดังกล่าวมีไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปตามกระแสการพัฒนาของโลกสมัยใหม่ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตประจำวันของผู้บริโภคไม่แตกต่างจากคนกรุงเทพมากนัก ดังนั้น ภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องการขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคดังกล่าว ต้องปรับตัวและเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคที่แตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะเรื่องราคาที่มีความเข้าใจผิดกันมาตลอดว่าสินค้าประเภทเดียวกันต้องขายถูกกว่ากรุงเทพฯ แต่ความจริงแล้วลูกค้าต่างจังหวัดมีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เช่น นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และอุบลราชธานี มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ต่าง ๆ ทำให้ประชาชนมีรายได้ดี นอกจากนี้ส่วนใหญ่เดินทางมาทำงานและศึกษาต่อในกรุงเทพฯ เมื่อเดินทางกลับไปท้องถิ่นเดิม จึงต้องการบริโภคสินค้าแบรนด์ที่คุ้นเคย รวมทั้งแนะนำไปยังครอบครัวและเพื่อนบ้านอีกด้วย
“การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคมีส่วนสนับสนุนให้ธุรกิจอาหารและอื่นๆ มีโอกาสขยายสาขาไปในภาคอีสานมากขึ้น แม้ว่าจะต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการในท้องถิ่น แต่ความแข็งแรงของแบรนด์ยังคงมีความได้เปรียบในการทำตลาด ลูกค้ายอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อแลกกับความรู้สึกว่าเป็นสินค้าพรีเมียม อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร ต้องไม่ลืมว่ารสนิยมการบริโภคของคนในภูมิภาคดังกล่าวชอบอาหารรสจัด จึงต้องมีเมนูให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า เช่น อาหารญี่ปุ่นจะต้องมีราเม็งรสต้มยำกุ้ง หรือราเม็งผัดขี้เมา” ดร.กฤษติกาให้ความเห็นและกล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าและบริการจะต้องสร้างความแตกต่างจากแบรนด์ท้องถิ่นให้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องภาษาไม่จำเป็นจะต้องใช้ภาษาอีสาน เพราะจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าแบรนด์อยู่ในระดับเดียวกับท้องถิ่นมากเกินไป แต่ควรใช้รูปแบบเดียวกับการตลาดในกรุงเทพฯ เพื่อสื่อสารให้ลูกค้ารับรู้ความมีมูลค่าของแบรนด์
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมผู้บริโภคในภาคอีสานเหมือนกับผู้บริโภคทั่วไป ที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของกลยุทธ์ลด แลก แจก แถม สินค้าอุปโภคและบริโภคที่ต้องการประสบความสำเร็จในการทำตลาด จำเป็นต้องเน้นเรื่องดังกล่าว เพราะของแถมจะทำให้ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ สะดุดตาลูกค้าทำให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งควรให้ความสำคัญกลยุทธ์การสร้างความคุ้มค่าจากการตัดสินใจซื้อ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่มีพฤติกรรมในการเปรียบเทียบปริมาณ ดังนั้น ราคาขายที่เท่ากันแต่มีของแถมจะทำให้เกิดการบอกต่อและกระตุ้นยอดขายได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับลูกค้าในท้องถิ่น ควรให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในกิจกรรมของแบรนด์
ดร.กฤษติกาเปิดเผยเพิ่มเติมถึงโอกาสการขยายตลาดสู่ภาคอีสานว่า นอกจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่คล้ายกับคนกรุงเทพฯ แล้ว การลงทุนในภูมิภาคดังกล่าวยังสามารถดึงดูดลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชา ส่วนใหญ่ให้ความสนใจและไว้วางใจสินค้าและบริการที่เป็นแบรนด์ของคนไทยอยู่แล้ว การขยายสาขาของผู้ประกอบการไปยังท้องถิ่นดังกล่าว มีส่วนกระตุ้นให้ลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้านนิยมเดินทางมาใช้บริการมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ดัง มีแนวโน้มได้รับความนิยมทั้งจากผู้บริโภคในท้องถิ่นและประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นการวางแผนที่ดีเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
“ดังนั้นภาคอีสานถือเป็นขุมทรัพย์ที่ใหญ่มากสำหรับการลงทุน ที่ผ่านมาธุรกิจต่างๆ ทั้งอาหารญี่ปุ่น ศูนย์การค้า โรงแรม รวมทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ล้วนแต่เกิดขึ้นเพื่อรองรับกำลังซื้อที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์ที่ต้องการเจาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่หรือ Gen Y ที่มีอายุระหว่าง 17-25 ปี ต้องรู้ว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างมาก ในขณะเดียวกันไลฟ์สไตล์ก็ไม่แตกต่างจากวัยรุ่นในกรุงเทพฯ พฤติกรรมการบริโภคที่คล้ายกันจะเป็นโอกาสของแบรนด์ต่าง ๆ ที่จะประสบความสำเร็จในการขยายฐานลูกค้าไปสู่ภาคอีสาน” ดร.กฤษติกากล่าวให้ความเห็น