กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--โรงพยาบาลรามคำแหง
โรคเส้นประสาทที่เกิดจากเบาหวาน Diabetic neuropathy
พญ.อริยา ทิมา
อายุรแพทย์ระบบสมองและประสาท
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยและก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้มาก โรคเส้นประสาทก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดความพิการและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานเช่นกัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมานานและควบคุมโรคได้ไม่ดี ทั้งในเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ในบางรายอาจพบโรคเส้นประสาทในขณะที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยเบาหวานชนิดที่ 2 ก็ได้. เนื่องจากผู้ป่วยอาจไม่มีอาการเบาหวานมากนักแต่เป็นโรคมานาน อาการปวดเป็นอาการสำคัญของโรคเส้นประสาทนี้ แต่อาจไม่พบในผู้ป่วยทุกรายซึ่งกลไกดังกล่าวยังไม่เป็นที่ชัดเจนนัก. มีรายงานวิจัยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาพบว่ากลไกทางระบบภูมิคุ้มกัน และการปรับตัวที่ผิดปกติของระบบประสาทน่าจะมีส่วนสำคัญต่อการดำเนินโรค. ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการปวด มักจะมีอาการปวดเรื้อรัง รักษาได้ยากและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมา และเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในที่สุด
โรคเส้นประสาทเฉพาะที่ ที่มีลักษณะพิเศษในผู้ป่วยเบาหวานคือ Diabetic Lumbosacral Radiculoplexus Neuropathy (DLRPN) หรือเป็นที่รู้จักในชื่ออื่น เช่น Diabetic Amyotrophy, Bruns Garland Syndrome หรือ Femoral-Sciatic Neuropathy. ผู้ป่วยจะมีอาการชาหรือปวดเฉียบพลันบริเวณ ต้นขา ร่วมกับอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ quadriceps/iliopsoas ทำให้เดินไม่สะดวก เมื่อตรวจร่างกาย จะพบว่า patellar reflex ลดลงหรือหายไป โดยอาการดังกล่าวจะคงอยู่เป็นเดือนแล้วค่อยๆ ดีขึ้นได้เอง แต่อาจก่อให้เกิดความพิการหลงเหลืออยู่ โรคนี้เชื่อว่าเกิดจากปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการอักเสบและอุดตันของหลอดเลือดเล็กๆที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทดังกล่าว มีการศึกษาทางพยาธิวิทยาของเส้นประสาทพบว่า มีปฏิกิริยาอักเสบและเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Lymphocyte ล้อมรอบหลอดเลือด และก่อให้เกิดการตายของเส้นประสาทนั้นๆ จึงมีการใช้ยากลุ่มสตีรอยด์ขนาดสูง หรือ intravenous immunoglobulin ในการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ และพบว่าได้ผลดี แต่ยังไม่มีการศึกษาขนาดใหญ่ยืนยันในขณะนี้
สรุป
โรคเส้นประสาทจากเบาหวานเป็นภาวะแทรก ซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานทั่วไป ซึ่งการ เสื่อมของเส้นประสาทอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ระยะก่อนเบาหวาน จนถึงเบาหวานระยะท้าย การควบคุมระดับน้ำตาลอย่างเข้มงวดเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันและรักษาโรคนี้. การรักษาในปัจจุบันมักเป็นการ รักษาตามอาการโดยใช้ยาต่างๆเพื่อบรรเทาปวด และป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมา ปัจจุบันมีความก้าวหน้าในด้านความเข้าใจต่อกลไกของโรคมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาในอนาคต
โรคเบาหวาน (Diabetes) เป็นโรคที่เป็นต้นเหตุของโรคแทรกซ้อนต่างๆได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ อันตรายจากการเกิดโรคแทรกซ้อนมักจะรุนแรงมาก ดังนั้นหากผู้ป่วยเบาหวานควบคุมอาการของโรคไม่ดีพอจะทำให้มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นมาได้ โรคแทรกซ้อนที่ว่าอาจเกิดขึ้นกับส่วนใดหรือระบบใดของร่างกายก็ได้ ระบบประสาทก็เป็นระบบที่เกิดการแทรกซ้อนของโรคจากอาการเบาหวานได้บ่อย
อาการแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทจะมีอาการสูญเสียการรับความรู้สึกอาจเริ่มจากชาตามปลายนิ้วและลุกลามต่อไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย ไม่ว่าร่างกายส่วนที่สูญเสียการรับรู้ความรู้สึกจะไปสัมผัสกับสิ่งที่ร้อนหรือเย็นหรือแม้แต่ได้รับบาดแผลผู้ป่วยก็จะไม่รู้สึกตัวเลย เท้าเป็นอวัยวะของผู้ป่วยเบาหวานที่มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บได้ง่ายที่สุดเนื่องจากผู้ป่วยต้องใช้เท้าเดินไปไหนมาไหนหากประสาทการรับรู้ที่เท้าสูญเสียไปเมื่อผู้ป่วยเบาหวานเดินไปเหยียบตะปูหรือของมีคมก็จะไม่รู้สึกตัว ยิ่งไปกว่านั้นแผลของผู้ป่วยเบาหวานก็จะหายช้ากว่าคนปกติอีกด้วย หากดูแลแผลไม่ดีอาจทำให้เกิดการลุกลามจนอักเสบและติดเชื้อได้
หากผู้ป่วยเบาหวานเกิดภาวะที่เส้นเลือดฝอยที่เท้ามีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอแล้วผู้ป่วยอาจมีอาการปวดเส้นประสาทหรือปวดแสบปวดร้อนได้ บางทีผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนมีมดไต่เท้าอยู่ตลอดเวลาสร้างความรำคาญจนมีผลกระทบในเวลาพักผ่อนของผู้ป่วยทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอร่างกายอ่อนเพลียได้ง่าย
การแทรกซ้อนที่เกิดกับระบบประสาท (Diabetic neuropathy) อาจเกี่ยวข้องกับเส้นประสาทของกล้ามเนื้อตาซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของกล้ามเนื้อตาคืออาจมองเห็นภาพซ้อน ไม่สามารถกลอกตาไปในบางทิศทางได้ บางครั้งอาจมีอาการปวดหัวร่วมด้วยแต่ความผิดปกติของระบบประสาทในลักษณะนี้เมื่อเวลาผ่านไปอาการมักจะค่อยๆดีขึ้นได้เองซึ่งเป็นความผิดปกติของเส้นประสาทเฉพาะเส้นเท่านั้น
การแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติ หากเป็นระบบประสาทที่ควบคุมทางเดินอาหารจะทำให้กระเพาะทำงานได้น้อย กินอาหารน้อย อาเจียน แน่นท้องตลอดจนการดูดซึมอาหารก็ทำงานได้ไม่ดี แต่หากระบบประสาทอัตโนมัตินั้นควบคุมเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์หรือระบบปัสสาวะจะทำให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ กระเพาะปัสสาวะไม่ทำงานมีปัสสาวะค้างอยู่ภายในทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและอาจกระทบไปถึงปัญหาอวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว (Erectile Dysfunction) ที่เป็นปัญหาใหญ่ของเพศชายด้วย
โรคเบาหวาน (Diabetes) โดยปกติแล้วหากควบคุมอาการอยู่ก็จะไม่เกิดปัญหาอะไรกับตัวผู้ป่วย แต่สิ่งที่น่ากลัวคือเบาหวานเป็นจุดเริ่มของโรคแทรกซ้อนที่อันตรายมาก ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานควรให้ความสำคัญในการควบคุมอาการของโรคและระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีเพราะหากเกิดการผิดพลาดตรงจุดนี้จะทำให้โรคแทรกซ้อนจากเบาหวานโรคใดโรคหนึ่งหรือหลายโรคเกิดตามมาได้
ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท (Diabetic neuropathy) เบาหวาน จะทำให้หลอดเลือดเล็กๆ ที่มาเลี้ยงเส้นประสาทบริเวณปลายมือปลายเท้าเกิดพยาธิสภาพ ก็จะทำให้เส้นประสาทนั้นไม่สามารถนำความรู้สึกต่อไปได้ เช่นรู้สึกชาหรือปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือ เมื่อผู้ป่วยมีแผล ผู้ป่วยก็จะไม่รู้ตัว และไม่ดูแลแผลดังกล่าว ประกอบกับเลือดผู้ป่วยมีน้ำตาลสูง จึงเป็นอาหารอย่างดีให้กับเหล่าเชื้อโรค และแล้วแผลก็จะเน่า และนำไปสู่ Amputation ในที่สุด ในผู้ชายอาจมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (impotence)