กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--พีอาร์พีเดีย
สถาบันอาหาร เผยยังคงเดินหน้า 3 โครงการหลัก Thailand Food Quality to the World , Thailand Food Forward และโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ตอบโจทย์พัฒนาภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็น “ครัวคุณภาพของโลก” ภายใต้นโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” แนะผู้ประกอบการควรมีความพร้อมเข้าสู่ AEC เพื่อรับมือตลาดในประเทศที่จะมีการขยายตัวสูงและเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งเตรียมรุกสู่กลุ่มประเทศอาเซียนด้วยการลงทุนและขยายตลาดการค้า ประเมินการส่งออกอาหารปี 56 คาดมีมูลค่า 913,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบปี 55 เหตุเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า และค่าเงินบาทแข็ง ทั้งน้ำตาลทราย กุ้ง และไก่แปรรูปถูกกระทบหนัก ประเทศในกลุ่มเอเชียยังเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยสูงถึงร้อยละ 60 ชี้ปี 57 ส่งออกเติบโตได้เล็กน้อยราวร้อยละ 6.2 หรือ 970,000 ล้านบาท
นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่าในปี 2556 นี้ สถาบันอาหารได้ดำเนินงานมาจนครบรอบปีที่ 16 แล้ว โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบให้สถาบันอาหารเป็นผู้ดำเนินโครงการสำคัญๆ คือ 1)โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวอาหารคุณภาพของโลก หรือ Thailand Food Quality to the World 2)โครงการส่งเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารของไทย Thailand Food Forward และ3)โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ทั้ง 3 โครงการเป็นโครงการที่มุ่งสนองนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ที่มุ่งเน้นให้ไทยเป็น “ครัวคุณภาพของโลก”
“ปัจจุบันสถาบันอาหารพยายามยกระดับภารกิจในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวอาหารคุณภาพของโลกด้วยการให้บริการแบบ One Stop Services แก่ผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหารทุกภาคส่วนให้สามารถเข้าถึงการบริการได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การบริการ การวิจัย การค้า การส่งออก และการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ที่ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นรูปธรรมคือการพัฒนาเว็บไซต์ระบบสารสนเทศธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร www.thaifoodnfi.com เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร เป็นศูนย์กลางข้อมูล ข่าวสาร สารสนเทศ และความรู้ ตลอดจนกฎระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องในธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อพัฒนาเป็นตลาดเสมือนจริงที่ให้ข้อมูลสินค้าและการเจรจาธุรกิจ (Food Virtual Market) นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเว็บไซต์สถาบันอาหาร www.nfi.or.th โดยเพิ่มเนื้อหาในส่วนส่งเสริมและสร้างอัตลักษณ์อาหารไทย เน้นแนวคิด : Thai Food Good Health ในรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพสังคมในปัจจุบันผ่านรูปแบบแอนิเมชั่นและเกม
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอีกหลากหลาย อาทิ กิจกรรมพัฒนาโรงงานอาหารของไทยเพื่อสร้างศักยภาพในการส่งออกด้วยระบบคุณภาพต่างๆ ที่ได้รับการยอมับในระดับสากล เช่น HACCP BRC กิจกรรมยกระดับและเสริมสร้างมูลค่าให้แก่วัตถุดิบทางการเกษตรโดยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดได้กว่า 110 ผลิตภัณฑ์ กิจกรรมพัฒนาธุรกิจอาหารไทยและผู้ปรุงอาหารไทยให้ปลอดภัยได้มาตรฐานสากล กิจกรรมวิจัยเชิงลึกการเชื่อมโยงวัตถุดิบและคู่แข่งขันในระดับภูมิภาคเพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการค้า AEC กิจกรรมการวิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย กิจกรรมส่งเสริมให้มีการพัฒนาและยกระดับการผลิตอาหารที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนโดยการกำหนดกระบวนการผลิตตามมาตรฐานสากล กิจกรรมพัฒนามาตรฐานวัตถุดิบทางการเกษตรเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกับการส่งออก กิจกรรมส่งเสริมครัวไทยและสร้างอัตลักษณ์อาหารไทย และกิจกรรมอำนวยความสะดวกในด้านกฎหมายขึ้นทะเบียนอาหารเพื่อการส่งออกพัฒนาการเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจทั่วไป ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็น ผู้ประสานงานคู่ค้าในต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการในเมืองไทย รวมทั้งรับเป็นผู้ประสานงานการค้าในประเทศอีกด้วย ซึ่งทุกกิจกรรมที่ดำเนินการจะสามารถสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารปลอดภัยของโลกระดับแนวหน้า” นายเพ็ชร กล่าว
สำหรับการดำเนินงานของสถาบันอาหารในปี 2557 ยังคงผลักดันเป้าหมายที่วางไว้อย่างต่อเนื่องผ่านโครงการจากภาครัฐ 3 โครงการดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยเติบโตไปในทิศทางที่สอดรับกับการเข้าสู่ AEC อย่างเต็มรูปแบบ โดยได้มุ่งพัฒนาและผลักดันให้โรงงานแปรรูปอาหารของไทยทุกระดับเข้าสู่ระบบคุณภาพสุขอนามัยในการผลิตระดับสากลไม่น้อยกว่า 500 สถานประกอบการ พัฒนาบุคลากรไม่น้อยกว่า 3,700 คน พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภคและเสริมสร้างมูลค่าวัตถุดิบทางการเกษตรไม่น้อยกว่า 107 ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังนำพาผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดสากล และมุ่งเน้นการส่งเสริมเอกลักษณ์อาหารไทยและวัฒนธรรมไทยอีกด้วย
นายเพ็ชร กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์การค้าอาหารของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2556 พบว่ามีมูลค่าการส่งออก 765,566 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี2555 โดยคาดว่าการส่งออกในภาพรวมตลอดปีจะมีมูลค่าประมาณ 913,000 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับปี 2555 ทั้งนี้มีปัจจัยจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวค่อนข้างช้ากว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับเงินบาทไทยแข็งค่าและแข็งค่ามากกว่าเงินสกุลประเทศคู่แข่งในภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเฉพาะด้านที่พบในแต่ละสินค้า อาทิ ความต้องการและราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกชะลอตัวหลังจากสต็อกน้ำตาลอยู่ในระดับสูงในช่วงก่อนหน้า คาดว่าจะทำให้ไทยสูญเสียรายได้ประมาณ 35,000 ล้านบาท ส่วนกุ้ง ประสบปัญหาการขาดแคลนอย่างหนักจากโรคระบาด(EMS) คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 30,000 ล้านบาท สำหรับการส่งออกไก่แปรรูปกลับไม่ขยายตัวตามคาด เนื่องจากตลาดหลักในสหภาพยุโรปลดการนำเข้าลง ประกอบกับไก่แปรรูปของไทยมีราคาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เสียตลาดบางส่วนให้กับประเทศคู่แข่งอย่างบราซิล และจีน ที่เริ่มเข้ามาทำตลาดไก่แปรรูปมากขึ้น
“ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2556 สินค้าอาหารที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย ปลาทูน่ากระป๋อง ไก่ และกุ้ง โดยมีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 14.4, 10.2, 8.7, 7.6 และ 7.5 ตามลำดับ ทั้งนี้สินค้าข้าว และน้ำตาลทราย ยังคงเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 1 และ 2 คงที่จากปี 2555 ส่วนอันดับ ที่ 3 และ 4 ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง และไก่ ตามลำดับ โดยไทยส่งออกสินค้าอาหารไปยัง 6 ทวีป รวม 222 ประเทศทั่วโลก ร้อยละ 60 อยู่ในเอเชีย ได้แก่ อาเซียน (22%), ญี่ปุ่น (14%), จีน(10%), ตะวันออกกลาง (5%) และอินเดีย (1%) ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 8 อยู่ในประเทศเอเชียอื่นๆ และหากคิดสัดส่วนตลาดเป็นรายประเทศจะพบว่า มีญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 1 รองลงมาได้แก่สหรัฐฯ และจีน ตามลำดับ”
นายเพ็ชร กล่าวถึง แนวโน้มการส่งออกอาหารของไทยในปี 2557 ว่ามีโอกาสจะขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่เป็นการขยายตัวในอัตราที่ไม่สูงนัก คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 970,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 ซึ่งเป็นมูลค่าใกล้เคียงกับปี 2555 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกน่าจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2557 จะขยายตัวร้อยละ 3.6 สูงที่สุดในรอบ 3 ปี ขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มทรงตัวหรืออ่อนค่าลงเล็กน้อย คาดว่าค่าเงินบาททั้งปี 2557 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 31.34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากแนวโน้มการปรับลดขนาดมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ นอกจากนี้ราคาและความต้องการน้ำตาลในตลาดโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบที่จะกระทบการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2557 อาทิ การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมกุ้งไทยจากโรคระบาดน่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ สินค้าอาหารแปรรูปของไทยจะถูกสหภาพยุโรป(อียู) ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นไป โดยเฉพาะกลุ่มสินค้ากุ้งแปรรูปที่พึ่งพิงตลาดอียูถึงร้อยละ 16 และราคาพลังงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก
นายเพ็ชร ยังชี้ให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยควรเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อช่วงชิงโอกาสจากการเข้าสู่ AEC ในปี 2558 เพราะจะเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมอาหารของไทยใน 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ1) อุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นและมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จากการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ทั้งนักลงทุนในและนอกภูมิภาคอาเซียน 2) อุตสาหกรรมอาหารไทยที่มีศักยภาพ จะขยายการค้าการลงทุนไปสู่ประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้น เพื่อเข้าถึงตลาด แหล่งวัตถุดิบ แรงงานต้นทุนต่ำ รวมทั้งสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP)ในกรณีที่ไทยไปลงทุนในกลุ่มประเทศCLMV ที่กลุ่มประเทศเหล่านี้ได้รับจากประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐฯ รวมถึงยุโรปอีกด้วย
ดังนั้น อุตสาหกรรมอาหารไทยจึงควรมีความพร้อมในด้านข้อมูล โดยการพัฒนาองค์ความรู้ในกลุ่มประเทศอาเซียน การเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุนการผลิต เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อลดต้นทุนการผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พิจารณาย้ายฐานการผลิตไปประเทศในอาเซียนในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงวัตถุดิบและแรงงานต้นทุนต่ำ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า หลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคากับประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า การพัฒนาการตลาด เพื่อแสวงหาลู่ทางขยายตลาด เช่น การจับคู่ธุรกิจ สร้างเครือข่าย/พันธมิตรทางธุรกิจ สร้างตราสินค้าและขยายตราสินค้าไทยออกสู่อาเซียนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV