กรุงเทพ--22 เม.ย.--ธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน)
ไทยทนุประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/2541 กำไรสุทธิ 5.26 ล้านบาท เผยได้รับผลกระทบจากมาตรการของทางการ แต่จากความสำเร็จในการเพิ่มทุนจำนวน 6,000 ล้านบาท กับ DBS BANK ทำให้สภาพคล่องของธนาคารยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
นายพรสนอง ตู้จินดา กรรมการผู้จัดการธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาส 1/2541 จากรายการย่อแสดงหนี้สิน และสินทรัพย์ (ชพ. 1.1) ณ 31 มีนาคม 2541 ว่าธนาคารมียอดสินทรัพย์จำนวน 138,145.87 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2540 ในอัตราร้อยละ 9.31 มียอดเงินให้สินเชื่อจำนวน 108,840.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2540 ในอัตราร้อยละ 8.59 และมียอดเงินฝากลูกค้าจำนวน100,734.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าในอัตราร้อยละ 23.51และจากงบกำไรขาดทุน ที่ยังไม่ได้สอบทานและยังไม่ได้ตรวจสอบ ณ 31 มีนาคม 2541 ธนาคารมีกำไรก่อนสำรองหนี้สงสัยจะสูญ และหนี้สูญ และก่อนหักภาษีเงินได้จำนวน 344.75 ล้านบาท
"จากที่ธนาคารได้ประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 6,000 ล้านบาท โดยร่วมเป็นพันธมิตรกับธนาคารดีบีเอส จากสิงคโปร์ ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชีย ทำให้ภาพลักษณ์ของธนาคารมีความโดดเด่นและมั่นคง จากสิ้นปี 2540 จนถึงปัจจุบัน ประชาชน ลูกค้าผู้ฝากเงินให้ความเชื่อถือในการใช้บริการเงินฝากกับธนาคารอย่างต่อเนื่อง ทำให้เงินฝากหรือสภาพคล่องของธนาคารขยายตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว"
นายพรสนอง กล่าวต่อไปว่าเหตุผลหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือและความแข็งแกร่งของธนาคาร โดยในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในช่วงถดถอยถึงตกต่ำ ธนาคารสามารถระดมเงินเพิ่มทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในปลายไตรมาส 3 ปี 2539 ธนาคารได้ระดมทุนภายในประเทศจำนวน 6,010 ล้านบาท และเมื่อต้นปี 2541 ที่ผ่านมาในจำนวน 6,000 ล้านบาท โดยการนำเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาพร้อมพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง ทั้งในด้านฐานะการเงิน และทีมบริหารมืออาชีพอย่างธนาคารดีบีเอส แห่งสิงคโปร์ จากเงินกองทุนจำนวน 14,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ล้านบาท ทำให้ธนาคารสามารถดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามมาตรฐาน BIS ขยับตัวสูงขึ้นจากร้อยละ 11.51 ณ กุมภาพันธ์ 2541 มาเป็นร้อยละ 16.14 ในเดือนมีนาคม ทันที สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงจะตอกย้ำความสำเร็จของธนาคารไทยทนุเท่านั้น แต่ยังสามารถเรียกความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินไทย พร้อมกับความน่าเชื่อถือให้แก่ประเทศไทย ในสายตานักลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย
"สำหรับแนวทางการปฏิบัติของทางการ ในการปรับปรุงมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2541 ซึ่งนับว่าเป็นการปฏิรูปโครงสร้างระบบบัญชีของสถาบันการเงินไทย ให้มีความโปร่งใสและสะท้อนฐานะการเงินที่แท้จริงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์การหยุดรับรู้รายได้ การจัดชั้นประเภทของสินทรัพย์ตลอดจนการตั้งสำรองเผื่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งคาดว่างวดบัญชีแรกของปี 2541 หรืองวดครึ่งปี น่าจะเห็นสถาบันการเงินบางแห่งปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้ทันที ด้วยการนำรายได้จากการดำเนินธุรกิจในทุกงวดบัญชีไปตั้งสำรองจนครบ โดยไม่ต้องรอให้ถึงปี 2543 ตามที่ทางการได้อนุโลม กล่าวคือ สถาบันการเงินยอมประสบกับภาวะขาดทุน ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงฐานะการเงินที่แท้จริงของสถาบันการเงินนั้น ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่นักลงทุน และเจ้าหนี้ต่างประเทศต้องการเห็นมากที่สุด"
นายพรสนอง กล่าวในตอนท้ายว่า เพื่อเป็นการสอดคล้องกับนโยบายของทางการในการป้องกันการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่มีปัญหาในการชำระหนี้ (NPL) ธนาคารจึงได้จัดตั้งฝ่ายงานเพื่อดูแลการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (Corporate Restructuring) ขึ้น ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการดูแลและช่วยแก้ปัญหาหนี้ให้กับลูกค้าของธนาคารแล้ว ยังส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อีกทั้งทำให้ภาพรวมของธุรกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามมาด้วย--จบ--