กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องดื่มชาเขียวชั้นนำในประเทศไทยและการมีตราสัญลักษณ์สินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างดี การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการสนับสนุนที่บริษัทได้รับจากบริษัทแม่คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ทั้งในด้านคณะผู้บริหาร เครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวาง และโรงงานผลิตด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ตลอดจนการมีสินค้าทดแทนได้ง่าย อัตราการทำกำไรที่ลดลง และภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายธุรกิจ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงเสริมสร้างความแข็งแกร่งของตราสินค้าเอาไว้และผสานกำลังทางธุรกิจกับบริษัทไทยเบฟเวอเรจต่อไป อีกทั้งยังคาดหวังให้บริษัทเร่งฟื้นกำไรจากการดำเนินงานในธุรกิจเครื่องดื่มและปรับปรุงผลการดำเนินงานโดยรวมแม้ว่าจะได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรง หากอัตรากำไรยังคงอ่อนแอต่อเนื่องเป็นเวลานานก็อาจเกิดผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้
บริษัทโออิชิ กรุ๊ปดำเนินธุรกิจหลัก 2 ประเภท คือ ธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และธุรกิจอาหาร โดยใช้ตราสินค้าหลักคือ “โออิชิ” (Oishi) และเน้นเอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่น สินค้าประเภทเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของบริษัทครอบคลุมชาเขียวญี่ปุ่นและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ สำหรับธุรกิจอาหารนั้น บริษัทดำเนินธุรกิจเครือข่ายภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น จำหน่ายอาหารแช่แข็งและแช่เย็นรวมถึงสาหร่ายทอดกรอบสไตล์ญี่ปุ่น และให้บริการจัดส่งอาหาร ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 บริษัทมีโรงงานผลิตเครื่องดื่ม 3 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 450 ล้านลิตรต่อปี และมีเครือข่ายภัตตาคารรวม 172 สาขา สาขาส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ครัวกลางแห่งใหม่ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรีทดแทนครัวเก่าในจังหวัดปทุมธานี
สถานะทางธุรกิจของบริษัทได้รับแรงหนุนในฐานะเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มชาเขียวชั้นนำในประเทศไทย ในปี 2555 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 44% ของตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทลดลงเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง การมีกิจกรรมส่งเสริมการขายเชิงรุกอย่างมาก และการตัดราคาจากคู่แข่ง ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 38% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 สำหรับธุรกิจอาหารนั้น เมื่อพิจารณาถึงตราสินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักและเครือข่ายภัตตาคารของบริษัทที่มีขนาดปานกลางแล้วคาดว่าบริษัทมีโอกาสเติบโตที่ดีในธุรกิจดังกล่าวในอนาคต กลยุทธ์หลักของบริษัทคือเน้นการขยายจำนวนสาขาให้ครอบคลุมตลาดมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มความหลากหลายของประเภทอาหาร
การเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มบริษัทไทยเบฟเวอเรจซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มชั้นนำของไทยทำให้บริษัทได้รับการสนับสนุนในหลาย ๆ ด้านและเกิดการผสานพลังทางธุรกิจ ได้แก่ คณะผู้บริหารที่แต่งตั้งเข้ามา การให้บริการกระจายสินค้า และการใช้โรงงานผลิตร่วมกัน บริษัทไทยเบฟเวอเรจถือเป็นผู้จัดจำหน่ายที่มีฐานการตลาดกว้างขวางที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ เครือข่ายขนาดใหญ่ดังกล่าวสามารถครอบคลุมตลาดและเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วประเทศ และมีโอกาสการเติบโตในตลาดส่งออกด้วยเช่นกัน การร่วมมือกันยังขยายไปถึงด้านการผลิตด้วย โดยบริษัทไทยเบฟเวอเรจช่วยเสริมการผลิตในช่วงที่บริษัทขาดแคลนสินค้าและสนับสนุนการผลิตสินค้าใหม่ ๆ ด้วยต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การสั่งซื้อสินค้าร่วมกับกลุ่มยังทำให้บริษัทมีอำนาจต่อรองกับคู่ค้ามากขึ้นด้วย ณ เดือนสิงหาคม 2556 บริษัทไทยเบฟเวอเรจถือหุ้นในสัดส่วน 79.7% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท
ยอดขายของบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้น 22.5% จากปี 2554 มาอยู่ที่ 11,634 ล้านบาทในปี 2555 ธุรกิจเครื่องดื่มสร้างรายได้ประมาณ 54% ของรายได้รวม ในขณะที่ธุรกิจอาหารสร้างรายได้ในส่วนที่เหลือ ยอดขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เติบโตเพียง 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 8,759 ล้านบาท โดยการเติบโตมาจากการขยายจำนวนสาขาร้านอาหารเป็นหลัก รายได้จากธุรกิจอาหารเติบโต 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยชดเชยยอดขายในธุรกิจเครื่องดื่มที่ลดลง 7% ในด้านผลกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ธุรกิจเครื่องดื่มสร้างกำไรประมาณ 63% ของ EBITDA ทั้งหมด ในปี 2555 แต่ลดลงเหลือ 30% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556
อัตราส่วนกำไรขั้นต้นของบริษัทค่อนข้างเสถียรอยู่ที่ระดับ 31%-32% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขาย) ของบริษัทมีความผันผวน โดยลดลงมาอยู่ที่ 10.0% ในปี 2555 และ 8.5% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เปรียบเทียบกับระดับ 14%-16% ในปี 2553-2554 สำหรับอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อยอดขาย (EBITDA Margin) จากธุรกิจอาหารค่อนข้างเสถียรอยู่ที่ระดับประมาณ 11% สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 แต่ EBITDA Margin ในธุรกิจเครื่องดื่มลดจาก 12% ในปี 2555 เหลือ 5% สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ต้นทุนที่เป็นภาระหลักคือค่าใช้จ่ายด้านการขายและกิจกรรมส่งเสริมการขายที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านการขายต่อยอดขายในธุรกิจเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นจาก 13% ในปี 2555 เป็น 18% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 โดยบริษัทใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อกระตุ้นยอดขายและรักษาตำแหน่งทางการตลาด ซึ่งตลาดชาพร้อมดื่มในช่วง 2 ปีที่ผ่านถือได้ว่ามีการแข่งขันที่รุนแรงผิดปกติ
เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 820 ล้านบาทในปี 2555 และอยู่ที่ 742 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ระดับสภาพคล่องของบริษัทยังคงเพียงพอ โดยมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมในปี 2555 อยู่ที่ 44.7% และ 34.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เมื่อปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง
ในช่วง 3 ปีข้างหน้า สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 14,000-18,000 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นผลจากการขยายสาขาร้านอาหาร ตลอดจนความต้องการที่เพิ่มขึ้นในเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ การออกสินค้าใหม่ และการขยายกำลังการผลิต อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในปี 2556 ยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันและคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2557 โดยคาดว่าธุรกิจอาหารจะคงสร้างอัตรากำไรที่ดีต่อเนื่อง ในขณะที่ธุรกิจเครื่องดื่มจะได้รับประโยชน์จากการประหยัดต้นทุนจากสายการผลิตแบบเทคโนโลยีบรรจุเย็นซึ่งบริษัทวางแผนลงทุนในสายการผลิตดังกล่าวเพิ่มเติม อีกทั้งจะได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนด้วย นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารค่าใช้จ่ายในการขายโดยใช้การส่งเสริมการขายที่เหมาะสมมากขึ้นด้วย
การขยายธุรกิจของบริษัทส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 28.9% ในปี 2554 เป็น 37% ในปี 2555 และ 47% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 เมื่อพิจารณาถึงแผนค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงปี 2557-2559 ที่บริษัทตั้งไว้ที่ประมาณ 1,000-2,200 ล้านบาทต่อปีเพื่อใช้ขยายสาขาร้านอาหารและติดตั้งสายการผลิตเครื่องดื่มสายใหม่แล้ว คาดว่าระดับภาระหนี้น่าจะปรับสูงขึ้น โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะขึ้นสูงสุดในระดับประมาณ 50% ในปี 2557 และหลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดลง
ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นและธุรกิจเครื่องดื่มจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากผลของพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใส่ใจในเรื่องสุขภาพ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในตลาดทั้ง 2 ประเภทนี้ถือว่ามีความรุนแรงเนื่องจากมีผู้แข่งขันจำนวนมากและมีสินค้าทดแทนได้ง่าย โดยมีการนำกิจกรรมทางการตลาดและส่งเสริมการขายมาใช้กระตุ้นความต้องการอยู่เสมอ บริษัทยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการริเริ่มส่งเสริมการขายที่มีประสิทธิภาพและรักษาตำแหน่งทางการตลาดเอาไว้ให้ได้
บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (OISHI)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
OISHI168A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable