กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยบูรพา
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา นำร่องสร้างนักวิศวกรทำงานเป็น โดยให้เริ่มฝึกงานตั้งแต่เริ่มเรียนในปีแรกกับภาคอุตสาหกรรม พร้อมมั่นใจเรียนจบ 4 ปีคุณภาพคับแก้ว
ผศ.วิรุฬห์ ศรีบริรักษ์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า “การฝึกงานของนิสิตในภาคฤดูร้อนนั้น โดยปกติแล้วนิสิตจะฝึกงานเมื่อศึกษาจบชั้นปีที่ 3 และฝึกงานเป็นระยะเวลาเพียง 2 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างสั้น และนิสิตมักจะได้รับประโยชน์จากการฝึกงานค่อนข้างน้อย ดังนั้นทางคณะจึงจัดโครงการการฝึกงานในรูปแบบของการบูรณาการการเรียนและการทำงาน และมีจุดพิเศษตรงที่นิสิตที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการฝึกงานตั้งแต่ปี 1 เราเรียกโครงการฝึกงานแบบนี้ว่า Work integrated learning Plus (WIL+) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของทั้งภาคอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัย นิสิตจะได้ไปฝึกงานตั้งแต่ปี 1 จนถึง ปี 3 ในช่วง Summer เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยในปีแรก นิสิตจะได้เรียนรู้ชีวิตการทำงานจริง ซึ่งจะทำให้ตัวเขาสามารถตัดสินใจได้ว่าชอบสายงานทางวิศวะฯ หรือไม่ และสามารถวาง career path ของตนเองได้ ถ้านิสิตชอบในสายงานนี้ ตัดสินใจที่จะเรียนต่อและฝึกงานต่อในระดับสูงขึ้นไป เขาจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทีละเล็กทีน้อยจนเพิ่มมากขึ้น มีมุมมอง มีความคิดสร้างสรรค์ที่มากขึ้น จนกระทั่งเขาจบการศึกษา ก็จะเป็นวิศวกรคุณภาพและตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของโครงการ WIL+ และนอกจากนั้น ยังถือว่า เป็นการสร้างและพัฒนาเยาวชนให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศต่อไป
นายไกรศร โพธิ์มูล นิสิตสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร ชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงคณะที่ตนเรียนว่าสิ่งแรกที่รู้สึกประทับใจสถานที่ เพราะนอกจากการเรียนในห้องเรียนแล้วยังมีการจัดอบรมนอกห้องเรียน โดยทางชมรมนวัตกรรมมีการทำหุ่นยนต์และพัฒนากันภายในชมรม และยังมีห้องปฏิบัติการสมองกลฝังตัว ซึ่งเป็นสถานที่ให้สามารถเข้าไปหาความรู้ได้ โดยในห้องปฏิบัติการนั้นมีรุ่นพี่ ป.โทและอาจารย์คอยให้ความรู้อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังมีโครงการ Work integrated learning Plus ซึ่งเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการนี้คืออยากจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ไม่มีในห้องเรียน และอยากได้ประสบการณ์ใหม่ๆ จึงได้ไปฝึกที่บริษัท Celestica (Thailand) ซึ่งในระหว่างที่ไปฝึกในปีแรกอยู่ปี 2 ได้รับผิดชอบในตำแหน่งพนักงานการผลิตและช่างเทคนิค ซึ่งได้เรียนรู้วิธีการซ่อมเครื่องจักร และในช่วงภาคฤดูร้อนในปี 3 ได้รับผิดชอบในหน้าที่ Test Engineer ซึ่งทำหน้าที่ทดสอบผลิตภัณฑ์ของบริษัท ทำให้ฝึกความรอบคอบ และต้องหาสาเหตุให้ได้ว่าชิ้นงานที่เสียเกิดจากสาเหตุอะไร เพราะถ้าบอกไม่ได้ผลิตภัณฑ์ก็จะถูกทำลายทิ้ง ทำให้ทางบริษัทสูญเสียเงินและทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ซึ่งคิดว่าโครงการนี้เป็นการเปิดโลกทัศน์ของสายงานที่เรียน เพราะในช่วงแรกที่เรียนยังไม่รู้ว่าจบไปแล้วมีสายงานที่ไหนที่จะรองรับ จนเมื่อมีโครงการนี้เกิดขึ้น และได้ประสบการณ์หลายอย่าง ได้เรียนรู้ชีวิตและสังคมของคนทำงานอย่างแท้จริง และที่สำคัญคิดว่าเป็นโครงการที่ผลิตวิศวกรที่ดีเพื่อพัฒนาประเทศชาติต่อไป
ทางคณะฯ มีแนวโน้มจะขยายความร่วมมือนี้กับบริษัทที่ตรงกับสายงานของนิสิตต่อไปอีกเรื่อยๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของนิสิตให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และจบออกไปเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพเต็มร้อย