SEC9: ร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ฉบับที่.. (พ.ศ....)

ข่าวทั่วไป Tuesday September 14, 1999 09:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--14 ก.ย.--ก.ล.ต.
ตามที่คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2541 มีมติเห็นชอบให้โอนงานการกำกับดูแลการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน เพื่อรองรับการโอนงานกำกับดูแลดังกล่าว จึงได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 โดยกำหนดให้การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะต้องดำเนินการ โดยบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ....และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ....ได้ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาวาระที่ 3 แล้ว นั้น
เมื่อร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ผู้ที่ประกอบธุรกิจการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบันทุกราย จะต้องได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลก่อน จึงจะสามารถรับลูกค้ารายใหม่ได้ (สำหรับลูกค้าเดิมจะมีบทเฉพาะกาลให้สามารถจัดการต่อไปได้อีก 1 ปี) อย่างไรก็ดี กฎกระทรวงที่กำหนดหลักเกณฑ์การขอรับใบอนุญาตในปัจจุบัน ยังไม่เปิดโอกาสให้นิติบุคคลบางประเภทที่อาจประกอบธุรกิจการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้วเช่น บริษัทประกันชีวิต เป็นต้น สามารถขอรับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลได้
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 11/2542 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2542 พิจารณาเห็นว่าเพื่อให้หลักเกณฑ์การขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกองทุนส่วนบุคคลที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยสามารถรองรับกรณีดังกล่าวข้างต้น และปรับปรุงวิธีการกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันมากขึ้น คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลฉบับที่.. (พ.ศ....) ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ในการขอรับใบอนุญาตฯ ในเรื่องเกี่ยวกับ
1. เพิ่มเติมประเภทผู้ที่จะขอรับใบอนุญาต โดยเพิ่มเติมจากกฎกระทรวงเดิมอีก 2 ประเภท คือ
1.1 บริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต เพื่อรองรับบริษัทประกันชีวิตที่รับจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้วในปัจจุบัน
1.2 บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ทั้งนี้ กรณีบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้จะต้องมีผู้ถือหุ้นรายใดราย หนึ่งหรือหลายรายเป็นสถาบันการเงินถือหุ้นรวมกัน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด (เดิมกำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องเป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ และสถาบันการเงินที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะเท่านั้น)
2. ปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับใบอนุญาต โดยเน้นหลักการในเรื่องความพร้อมและความสามารถในการประกอบธุรกิจ (fit and proper) ของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นสำคัญ ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นหลักการสากลที่ประเทศต่าง ๆ ใช้ในการพิจารณาให้ใบอนุญาตหรือให้ความเห็นชอบในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
3. ปรับปรุงการคิดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ปัจจุบันค่าธรรมเนียมใบอนุญาตมีอัตราแน่นอนตายตัว (ปีแรก 300,000 บาท ปีที่ 2 600,000 บาท และปีต่อ ๆ ไป ปีละ 1,000,000 บาท) ซึ่งเป็นภาระแก่บริษัทที่มีปริมาณธุรกิจน้อย และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน จึงปรับปรุงวิธีการคิดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต โดยจะคำนึงถึงปริมาณของการประกอบธุรกิจเป็นสำคัญ
4. ลดระยะเวลาในการพิจารณาให้ใบอนุญาต เพื่อให้กฎกระทรวงฉบับนี้สามารถรองรับกับวันมีผลใช้บังคับของร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวที่กำหนดให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป จึงลดระยะเวลาในการพิจารณาให้ใบอนุญาตจากกฎกระทรวงฉบับปัจจุบันดังนี้
4.1 ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอและหลักฐานครบถ้วน (เดิม 180 วัน)
4.2 ให้รัฐมนตรีพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. (เท่าเดิม) รวมเวลาที่ใช้ไม่เกิน 90 วัน (เดิม 210 วัน)
การปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกและเสนอขายหุ้น ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ในการประชุมครั้งที่ 6/2541 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2541 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์การเสนอขายหลักทรัพย์ในปัจจุบัน จากการที่สำนักงานพิจารณาความเหมาะสมของผู้ขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ (merit-based) ให้ค่อย ๆ พัฒนาไปสู่ระบบการเปิดเผยข้อมูลเพียงอย่างเดียว (full disclosure-based) ในที่สุด โดยในระหว่างนี้ให้ค่อย ๆ ลดปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาอนุญาตลง และสำนักงานได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขประกาศที่เกี่ยวข้องตามแนวทางดังกล่าวนั้น คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 11/2542 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2542 มีมติอนุมัติให้นำร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เกี่ยวกับการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ออกใช้บังคับ ซึ่งหลักการของร่างประกาศดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์แล้ว สรุปหลักการของร่างประกาศดังกล่าวตามเอกสารแนบการให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนในกระดานหลักและร่างข้อบังคับอื่นที่เกี่ยวข้องคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 11/2542 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2542 ได้พิจารณาร่างข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการรับหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนในกระดานหลัก (main board) และร่างข้อบังคับอื่นที่เกี่ยวข้องรวม 7 ฉบับ ดังต่อไปนี้
1. ร่างข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง การรับหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2542
2. ร่างข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง ยกเลิกข้อกำหนดในส่วนที่เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียน
3. ร่างข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง การรับหุ้นกู้หรือหุ้นกู้แปลงสภาพเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2542
4. ร่างข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง การรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิหรือหุ้นกู้เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2542
5. ร่างข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง การรับหน่วยลงทุนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2542
6. ร่างข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง การรับหลักทรัพย์ของบริษัทที่เกิดจากการควบบริษัทเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2542
7. ร่างข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง การเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2542
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ แก้ไขหลักเกณฑ์บางประการและมีมติอนุมัติในหลักการว่า หากสำนักงานเห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แก้ไขร่างข้อบังคับดังกล่าวตามข้อสังเกตที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. เห็นชอบแล้ว ให้ถือว่าคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับดังกล่าวแล้ว
การปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ในการให้ความเห็นชอบผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ตามที่มาตรา 41 ประกอบมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 กำหนดว่าผู้ขออนุญาตออกหุ้นกู้ต้องขอความเห็นชอบบุคคลที่จะแต่งตั้งเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งการกำหนดคุณสมบัติบางประการของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 13/2537 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขออนุญาต และการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2537 เป็นอุปสรรคต่อการปรับโครงสร้างหนี้ของภาคเอกชนในบางกรณี นั้น
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 11/2542 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2542 พิจารณาเห็นว่าเพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้ของภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น จึงมีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการแก้ไขประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ฉบับดังกล่าว ในส่วนที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเพิ่มข้อกำหนดให้สำนักงานสามารถผ่อนผันคุณสมบัติของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ดังกล่าวได้เฉพาะในกรณีดังต่อไปนี้ (ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ