กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศผลการประกวดคลิปวิดีโอ เด็กไทยกับไอที

ข่าวเทคโนโลยี Friday December 20, 2013 16:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาเก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด จัดงานประกาศผลและมอบรางวัลการประกวดคลิปวิดีโอ “เด็กไทยกับไอที” ภายใต้แนวคิด “ระเบิดไอเดีย ระดมความกล้า ท้าทำคลิป” คัดเลือกสุดยอดคลิปสร้างสรรค์ฝีมือเยาวชนจากผลงานที่ส่งเข้าประกวดกว่า 144 ผลงานจากทั่วประเทศ รับรางวัลถ้วยเกียรติยศจากกระทรวงวัฒนธรรม เกียรติบัตร และทุนการศึกษารวม 200,000 บาท ดร.ปรีชา กันธิยะ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันนี้มีเยาวชนไทยจำนวนไม่น้อยที่ใช้สื่อไอทีและเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างไม่เหมาะสม จนนำไปสู่พฤติกรรมที่น่าเป็นห่วง เช่น การที่มีเด็กติดเกมเป็นจำนวนกว่า 2.7 ล้านคน หรือการสนใจแต่อุปกรณ์ไอทีในมือจนไม่สนใจสิ่งรอบตัว กระทรวงวัฒนธรรมจึงร่วมกับคณะทำงานของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อไอทีต่างๆ จัดกิจกรรมหลากหลายภายใต้โครงการ “เด็กไทยกับไอที” เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมทั้งกลุ่มเยาวชน อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เยาวชนรู้เท่าทัน รู้จักเลือกรับและปรับใช้สื่อไอทีให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคม รวมถึงการสนับสนุนการผลิตสื่อดีให้กับสังคม ที่ผ่านมาในเดือนตุลาคมได้มีการจัดนิทรรศการและเปิดเวทีให้ความรู้แบบอินเตอร์แอคทีฟ รวมถึงการเสวนาในหัวข้อเกี่ยวกับเกม สมาร์ทโฟนและสื่อดิจิตอลที่มีผลต่อเด็กไทย ภายในงาน Thailand Game Show (TGS) BIG Festival ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน สำหรับการประกวดคลิปวิดีโอ “เด็กไทยกับไอที” เป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักที่มุ่งสนับสนุนให้เยาวชนใช้เทคโนโลยีด้านไอที อย่างสร้างสรรค์ พัฒนากระบวนการคิดและถ่ายทอดความเห็น รวมถึงใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ การประกวดครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ระเบิดไอเดีย ระดมความกล้า ท้าทำคลิป” เปิดโอกาสให้เยาวชนอายุ 12-25 ปี ส่งผลงานคลิปวิดีโอที่ถ่ายทำด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ทโฟน กล้องดิจิตอล คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต ความยาวไม่น้อยกว่า 30 วินาทีและไม่เกิน 5 นาที ไม่จำกัดแนวเรื่องและเทคนิคการนำเสนอ เพื่อให้สามารถถ่ายทอดมุมมองส่วนตัวและปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ คณะกรรมการตัดสินประกอบด้วย รศ.ดร.อรุณีประภา หอมเศรษฐี ประธานสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (แห่งประเทศไทย) นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม อาจารย์สุทธิชาติ ศราภัยวานิช อาจารย์ประจำภาควิชาดิจิทัลอาร์ท มหาวิทยาลัยรังสิต นายปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง นายที่รัก บุญปรีชา พิธีกรรายการไอทีและกูรูด้านแก็ดเจท และนายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ผู้จัดงานและผลิตรายการโทรทัศน์ด้านไอที ในการประกวดรอบสุดท้ายมีผลงานที่ผ่านเข้ารอบทั้งหมด 20 ผลงาน ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกผลงานที่ได้รับรางวัลโดยมีเกณฑ์การให้คะแนนประกอบด้วย ความคิดสร้างสรรค์และความสวยงามของผลงาน 30 คะแนน เนื้อหาตรงตามหัวข้อการประกวด ความเหมาะสมของเนื้อหา สื่อสารเข้าใจน่าสนใจ และผลกระทบ 20 คะแนน การผลิตและเทคนิคในการนำเสนอ 30 คะแนน และคะแนนโหวตผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คจาก Facebook หรือ Youtube 20 คะแนน ผลการตัดสินมีดังนี้ รางวัลชนะเลิศได้แก่ ทีมพ่อบ้านสำราญใจ จากผลงานเรื่อง “FAR” ได้รับถ้วยเกียรติยศจากกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมประกาศนียบัตรและทุนการศึกษา 100,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศได้แก่ ทีมศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนา จากผลงานเรื่อง “สื่อร้ายใกล้ตัว” ได้รับประกาศนียบัตรพร้อมทุนการศึกษา 50,000 บาท รางวัลชมเชยมี 2 รางวัล ได้แก่ ทีม TOPMONSTER กับผลงานเรื่อง “เด็กไทยไฮเทค”และ ทีม Bounty hunter" กับผลงานเรื่อง “เด็กไทยรู้จักใช้ไอที (Infographic)” ได้รับประกาศนียบัตรพร้อมทุนการศึกษารางวัลละ 25,000 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลพิเศษส่งเสริมความเป็นไทย ได้แก่ ทีมเท่แบบไทยๆ จากผลงานเรื่อง “ความเป็นไทยน่าสนใจเสมอ” ซึ่งกระตุ้นให้คิดว่าคนไทยจะรักษาและเผยแพร่วัฒนธรรมไทยอย่างไรในโลกปัจจุบัน และเป็นคลิปที่มีการแชร์ผ่านโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก รศ.ดร.อรุณีประภา หอมเศรษฐี หนึ่งในคณะกรรมการ กล่าวถึงผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศว่า “FAR นำเรื่องความสัมพันธ์ที่ห่างเหินในครอบครัวซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันมาใช้ในการเล่าเรื่อง และแสดงให้เห็นว่าอุปกรณ์ไอทีไม่ได้เป็นเป็นตัวทำลายความสัมพันธ์แต่เพียงด้านเดียว แต่สามารถใช้กระชับความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวได้เช่นกัน อยู่ที่ว่าทั้งเด็กและคนรอบข้างต้องปรับตัวเข้าหากัน ถือเป็นผลงานที่ผสมผสานประเด็นของเด็กไทย โลกไอที และวัฒนธรรมสมัยใหม่ได้อย่างน่าประทับใจและสามารถทำให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมไปกับเนื้อเรื่องได้ดี” ด้านนายปรัชญา ปิ่นแก้ว ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลงานที่เข้าประกวดในครั้งนี้ว่า คลิปที่ส่งเข้าประกวดมีความหลากหลายในด้านเนื้อหาที่เสนอมุมมองทั้งด้านดีและด้านร้ายของเทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคนิคการถ่ายทำที่สามารถทำออกมาได้อย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นการใช้สต๊อปโมชั่นกับหุ่นดินน้ำมันในเรื่อง “สื่อร้ายใกล้ตัว” หรือในเรื่องอื่นๆ ที่มีการใช้อินโฟกราฟิก เทคนิคการตัดต่อ เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าเยาวชนยุคนี้สามารถใช้เครื่องมือด้านไอทีได้อย่างคล่องแคล่วและนำมาใช้ตอบโจทย์ในการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้าน นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด หนึ่งในคณะกรรมการ กล่าวทิ้งท้ายกับการการประกวดคลิปวิดีโอ “เด็กไทยกับไอที” ว่า “ได้รับความสนใจจากเยาวชนในระดับที่น่าพอใจ หลายๆ คลิปมีความน่าสนใจและแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ทั้งในด้านเนื้อหาและเทคนิคการนำเสนอ ทางผู้จัดงานหวังว่ากิจกรรมครั้งนี้ จะเป็นหนี่งในแรงผลักดันที่ช่วยขับเคลื่อนให้เยาวชนไทยหันมารู้จักใช้ไอทีไปในทางที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมโดยใช้มิติทางวัฒนธรรมที่กระทรวงวัฒนธรรมกำลังเร่งขับเคลื่อนในปัจจุบัน เพื่อเปิดมิติใหม่ของการใช้สังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ