กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--วธ.
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2556 เวลา 08.29 น. ที่วัดบวรสถานสุทธาวาส หรือวัดพระแก้ววังหน้าดร.ปรีชา กันธิยะ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในฐานะประธานพิธีบวงสรวงเพื่อดำเนินการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังและพระพุทธรูปภายในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส หรือวัดพระแก้ววังหน้า ว่า วัดบวรสถานสุทธาวาส สร้างขึ้นในสมัยของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 3 ของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นโบราณสถานสำคัญในพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมอันงดงาม ภายในพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยฝีมือของจิตรกรชั้นครูสมัยรัชกาลที่ 4 ที่มีคุณค่ายิ่งในทางศิลปะ เขียนประดับอยู่เต็มผนังทั้งสี่ด้าน เป็นจิตรกรรมสีฝุ่น รองพื้น ใช้สีในวรรณะเย็น คือสีครามเข้ม สีน้ำตาลแก่ สีเขียวคล้ำ มีการปิดทองที่ภาพสถาปัตยกรรม ภาพบุคคลสำคัญ เครื่องแต่งกาย และราชรถ ทำให้ภาพมีความโดดเด่นและงดงาม คุณค่าของจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถแห่งนี้ ยังให้ความรู้ในเชิงวัฒนธรรม และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ภายในพระอุโบสถปรากฏพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่อยู่ริมผนังด้านทิศตะวันตกของพระอุโบสถหันพระพักตร์ไปยังทิศตะวันออก ลงรักปิดทอง ปางห้ามญาติ ประดิษฐานอยู่บนบุษบก อันเป็นลักษณะของพระพุทธรูปตามสมัยพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ปัจจุบันจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบภายในพระอุโบสถ มีสภาพชำรุดมีชั้นสีโป่งพองและชั้นรองพื้นหลุดล่อน กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร จึงได้ดำเนินการอนุรักษ์เพื่อเสริมความมั่นคงให้กับมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่านี้ ให้กลับมามีสภาพแข็งแรงและงดงามดังเดิม โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากประชาชนที่เห็นความสำคัญของโบราณสถานของชาติ เพื่อบูรณะซ่อมแซมจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ จำนวน 1,214,000 บาท และอนุรักษ์พระพุทธรูปภายในพระอุโบสถ จำนวน 1,787,500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,001,500 บาท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 – พฤษภาคม 2557 นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ โบราณสถานสำคัญในพระราชวังบวรสถานมงคล และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ โดยในปีงบประมาณ 2556 ได้ดำเนินการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังระหว่างช่องหน้าต่าง จำนวน 32 ผนัง และในปีงบประมาณ 2557 จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในส่วนผนังที่เหลือทั้ง 3 ด้าน จนแล้วเสร็จ
“กระทรวงวัฒนธรรมมีนโยบายในการเปิดพื้นที่วังหน้าให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนทั่วไป และนักท่องเที่ยว ได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน ซึ่งขณะนี้แผนการดำเนินงานผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว บางส่วนได้รับงบประมาณ สำหรับบางส่วนที่ไม่ได้รับงบประมาณนั้นก็มีประชาชนให้ความสำคัญและร่วมบริจาคเงินให้กรมศิลปากรทำการอนุรักษ์โบราณสถาน ขณะเดียวกัน ถ้าในอนาคตได้รับงบประมาณเพิ่มมากขึ้น ก็จะดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ไม่อยู่ในแผนออกไป เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้โล่งและสามารถรองรับนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากอีกด้วย” ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว