กรุงเทพ--7 ก.ค.--ม.รังสิต
ดร.วิมล ชอบชื่นชม อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้จัดทำโครงการวิจัย "การคัดเลือกและศึกษาสายพันธุ์จุลินทรีย์สำหรับบำบัดน้ำเสีย" กล่าวว่า ปัจจุบันสภาวะที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งมลภาวะทางน้ำหรือภาวะการเกิดน้ำเสียก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อ การดำรงชีวิตของมนุษย์โดยตรงโดยทั่วไปพบว่าสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางน้ำ ได้แก่ 1. มลภาวะจากสารอินทรีย์ เกิดจากการทิ้งของเสียลงสู่แหล่งน้ำ 2. มลภาวะจากสารประกอบไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นผลมาจากการชะล้างของปุ๋ยจากดิน รวมทั้งจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่มีการทิ้งสาร Urea ลงสู่แหล่งน้ำ 3. มลภาวะจากสารปนเปื้อนของสารไฮโดคาร์บอน เช่นการปนเปื้อนคราบน้ำมันในแหล่งน้ำ 4. มลภาวะจากการปนเปื้อนของสิ่งมีชีวิตที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ เช่น ไวรัส, แบคทีเรีย, และพยาธิ
การย่อยสลายสารอินทรีย์ธรรมชาติ (natural organic substances) ในแหล่งน้ำเสียนั้นเกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยอาศัยจุลชีพในบริเวณดังกล่าวนั้นเอง แต่ในกรณีที่มีสารอินทรีย์ธรรมชาติปนเปื้อนอยู่เป็นปริมาณมากๆ นั้น ก่อให้เกิดปัญหาการย่อยสลายไม่ทัน และไม่มีออกซิเจนในการย่อยสลายได้เพียงพอ จึงทำให้การย่อยสลายโดยจุลชีพที่อาศัยออกซิเจนเกิดได้น้อย แต่การย่อยโดยไม่อาศัยออกซิเจนอันก่อให้เกิดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟต์ สามารถเกิดได้ดีกว่าทำให้เกิดปัญหาน้ำเสียขึ้นได้ โดยปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้โดยการคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ธรรมชาติ มาเพิ่มจำนวนให้เพียงพอและเติมลงในแหล่งน้ำในรูปของเซลที่ถูกตรึง (immobilized cells) ซึ่งยังคงประสิทธิผลในการย่อยสลายอยู่
วิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งสายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการวิธีหนึ่งคือการแยกเชื้อจากแหล่งที่มีการปนเปื้อนของสารตกค้างที่สนใจ จากนั้นศึกษาลักษณะการเจริญเติบโตของเชื้อและปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเชื้อ การศึกษาขั้นพื้นฐาเพื่อให้ทราบถึงกลไกการย่อยสลายที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ของเชื้อ จากการวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชื้อที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในภาวะที่รุนแรงกว่าปกติ เช่น มีการปนเปื้อนของสารตกค้างประเภทของไขมัน วิธีการทดลอง 1. แยกเชื้อและคัดเลือกจุลรินทรีย์ชนิดต่างๆ ที่มีความสามารถในการย่อยสลายสารอินทรีย์ประเภทไขมันได้ โดยศึกษาจากเชื้อที่มีอยู่ และแยกเชื้อจากแหล่งต่างๆ จากนั้นศึกษาและจำแนกชนิดของเชื้อดังกล่าว 2. ศึกษาประสิทธิภาพของเชื้อที่แยกได้ ในการบำบัดตัวอย่างน้ำเสียที่มีไขมันปนเปื้อนในระดับห้องปฏิบัติการ 3. ศึกษาเพื่อให้ทราบวิธีการที่เหมาะสมในการเตรียมเซลเพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสีย ที่มีไขมันปนเปื้อน เช่น การเตรียมตะกอนเซลแห้ง (lyophilized cell) หรือการตรึงเซล (immobilized cell) ในระดับห้องปฏิบัติการเพื่อเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานก่อนนำเซลที่เตรียมได้นี้ไปใช้ในการบำบัดน้ำเสียต่อไป
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัยในครั้งนี้คือ เป็นแนวทางในการศึกษาการวิวัฒนา การและการปรับตัวของเชื้อ เพื่อที่จะสามารถศึกษาถึงการปรับปรุงสายพันธุ์ หรือปรับปรุงเอนไซม์ให้ทำงานได้ดีในสภาวะที่มีสิ่งแวดล้อมรุนแรงได้ นอกจากนี้ซื้อที่แยกได้น่าจะมีแนวทางพัฒนา และประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมหรือใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น การใช้เชื้อที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายสารประเภทไขมันในการบำบัดน้ำเสียต่อไป--จบ--