ธ.ก.ส.ทำประชาพิจารณ์ ผลักดันแก้ไขกฎหมายช่วยเกษตรกร

ข่าวทั่วไป Tuesday May 27, 1997 09:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--27 พ.ค.--ธ.ก.ส.
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในวันพุธที่ 28 พฤษภาคมนี้ ณ ห้องประชุม ชั้น 2 โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร กระทรวงการคลัง ร่วมกับ ธ.ก.ส.จัดทำโครงการประชาพิจารณ์ เรื่อง "การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ ธ.ก.ส.เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร" ตั้งแต่เวลา 09.00-12.30 น. โดยมีทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย นักการเมือง เกษตรกร และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมถกปัญหา ซึ่งการดำเนินโครงการครั้งนี้ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้กำกับดูแลงานธ.ก.ส. จะนำบทสรุปทั้งหมดเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณา แก้ไขกฎหมาย ธ.ก.ส.ต่อไป
สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการพิจารณ์ครั้งนี้ ประกอบด้วย นายสุนัย จุลพงศธร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการ นายชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายคำรพ นาคะปัท ผู้แทนเกษตรกรและผู้แทนจากธ.ก.ส. คือตนเอง นอกนั้นจะเป็นผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์และร่วมแสดงความคิดเห็นที่เชิญมาร่วมงานอีกประมาณ 100 คน
นายเอ็นนูกล่าวอีกว่า การแก้ไขกฎหมาย ธ.ก.ส.เพื่อขยายขอบข่ายการช่วยเหลือเกษตรกร ได้มีการนำเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรหลายครั้ง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีการยุบสภา ทำให้ร่างพ.ร.บ.ธ.ก.ส.ที่ขอแก้ไขตกไปโดยปริยาย สำหรับสาระสำคัญที่ขอแก้ไขคราวนี้มี 6 ประเด็นคือ การขยายวัตถุประสงค์ให้ธ.ก.ส.สามารถให้เงินกู้แก่เกษตรกรสำหรับการประกอบอาชีพอื่นนอกภาคเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้ รวมทั้งเงินกู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น เงินกู้เพื่อการศึกษา การรักษาพยาบาลและที่อยู่อาศัยของเกษตรกร จากเดิมที่จำกัดเฉพาะเงินกู้เพื่อประกอบอาชีพทางการเกษตร และเกี่ยวเนื่องในเกษตรเท่านั้น ประเด็นที่สอง เพิ่มประเภทลูกค้าผู้กู้เงิน โดยสามารถให้กู้เงินแก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรม ประเด็นที่สาม ขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจการบริการได้กว้างขวางขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเสริมรายได้และเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ธ.ก.ส.สามารถประกอบกิจการเพื่อสงเคราะห์ชีวิตของเกษตรกร หรือชดเชยความเสียหายจากภัยพิบัติ ในการประกอบเกษตรกรรมของเกษตรกรได้ ประเด็นที่สี่ กำหนดสัดส่วนของวงเงินกู้ที่ขอแก้ไขใหม่ไม่เกินร้อยละ 20 ของเงินที่ให้กู้ในแต่ละรอบปี ประเด็นที่ 5 ขอเพิ่มจำนวนคณะกรรมการที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านธุรกิจอีก 4 คน เพื่อช่วยในการกำหนดนโยบาย และดูแลกิจการของธ.ก.ส.ตามที่ได้ยายขอบเขตการดำเนินงานออกไป และประเด็นที่หก ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจค้ำประกันเงินกู้แก่ธ.ก.ส.ได้เป็น 12 เท่า--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ