กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--มหาวิทยาัลัยนเรศวร
ร่วมย้อนความทรงจำ สัมผัสของเล่นในยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน วันนี้ถึง ๓๑ มกราคม ๒๕๕๗ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูพงษ์ พงษ์เจริญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า “การเล่นถือเป็นวัฒนธรรมของมนุษย์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะความบันเทิงเล็ก ๆ ที่คนทุกยุคทุกสมัยทุกชนชาติคุ้นเคยนับตั้งแต่วัยเด็กจวบจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่นั้น สามารถใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการศึกษาหาความรู้ในแง่มุมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ด้วยไม่ว่าของเล่นนั้นจะถูกสร้างมาในรูปแบบใดก็ตาม มักซ่อนความรู้ด้านเทคโนโลยี วัฒนธรรม สังคมและเศรษฐกิจเอาไว้เบื้องหลังทั้งสิ้น ทั้งนี้ในปีงบประมาณ ๒๕๕๖ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวรได้จัดนิทรรศการเล่น ๆ ขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้จากของเล่นในยุคต่าง ๆ ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี มีการเสนอแนะให้จัดนิทรรศการที่นำเสนอความรู้ผ่านของเล่นขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน จึงได้จัดนิทรรศการ ‘PLAY เล่นไม่เลิก’ ขึ้น โดยได้ขยายวงกว้างไปสู่ของเล่นของชนชาติต่าง ๆ ที่แฝงตำนาน เรื่องราวไว้อย่างน่าสนใจ”
ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ‘กล่าวว่า นิทรรศการ ‘PLAY เล่นไม่เลิก’ กำหนดจัดขึ้นในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ – ๓๑ มกราคม ๒๕๕๗ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร พบกับของเล่นที่สะท้อนเอกลักษณ์ ตัวตนของกลุ่มชนในประเทศต่าง ๆ นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น ตุ๊กตาลูกดก มาโตรชก้า ตุ๊กตาไม้เขียนลายในรูปแบบศิลปะท้องถิ่นของประเทศรัสเซีย, Teddy Bear ตุ๊ตาหมีที่มีชื่อตามชื่อเล่นของประธานาธิบดีธีโอดอร์ เทดดี้ รูสเวลท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา, ทามาก๊อตจิ สัตว์เลี้ยงดิจิตอลที่ใช้การสื่อสารด้วยภาพและเสียง ประเทศญี่ปุ่น, กันดั้ม หุ่นยนต์ต่อสู้ขนาดยักษ์จากซีรีส์แอนิเมชั่นยอดนิยมของญี่ปุ่น, เดินกะลา ของเล่นพื้นบ้านไทย ให้ความสนุก ฝึกเรื่องการทรงตัว ช่วยนวดฝ่าเท้าและทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง, ตุ๊กตากระดาษของไทย ช่วยเสริมสร้างทักษะ พัฒนาการและจินตนาการ ฯลฯ”
ขอเชิญทุกท่านร่วมย้อนความทรงจำ เรียนรู้เรื่องราวของชนชาติต่าง ๆ ในนิทรรศการ” PLAY เล่นไม่เลิก” ทุกวันจันทร์ – วันเสาร์ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๓๐ น. ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๗ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่งานพัฒนาแหล่งเรียนรู้ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๕๕๙๖ ๑๒๑๘ และ ๐ ๕๕๙๖ ๑๒๐๗