กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
“ยุคล”หารือทูตญี่ปุ่นย้ำความมั่นใจประเทศญี่ปุ่นเตรียมประกาศเลิกแบนไก่สดไทยอย่างเป็นทางการก่อนปีใหม่นี้ เกษตรฯ ตั้งเป้าส่งออกไก่สดไปญี่ปุ่นปีแรกกว่า 3 แสนตัน พร้อมจ่อเปิดตลาดไก่สดที่เกาหลีต่อ
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายชิเกะคะสุ ซะโต เอกอัครราชทูต ญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ซึ่งได้แจ้งว่าทางการญี่ปุ่นเตรียมประกาศยกเว้นมาตรการห้ามนำเข้าไก่สดจากไทยอย่างเป็นทางการภายในก่อนปีใหม่นี้ เพราะเชื่อมั่นในระบบควบคุมไข้หวัดนกของไทยจนเป็นที่ยอมรับและไม่มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่องกว่า 4 ปีแล้ว ซึ่งการอนุญาตให้นำเข้าไก่สดไปญี่ปุ่นครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการระบาดของไข้หวัดนกในไทยเมื่อปี 2547 หรือเกือบ 10 ปีที่แล้ว สำหรับขั้นตอนดำเนินงานในขณะนี้กรมปศุสัตว์ไทยกำลังทำข้อมูลใบรับรองสุขภาพสัตว์พร้อมทั้งส่งรายชื่ิอบริษัทและโรงงานที่สามารถส่งออกได้ 26 แห่งให้กับทางการญี่ปุ่น รวมถึงรายละเอียดขั้นตอนควบคุมกระบวนการผลิต ควบคุมคุณภาพ ควบคุมโรค ทั้งระบบทุกขั้นตอน รายงานในใบรับรองสุขภาพสัตว์ประกอบการส่งออกตามที่ทางการญี่ปุ่นมอบอำนาจให้ดำเนินการ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยในระบบการผลิตไก่สดของไทย
ทั้งนี้ หลังจากที่ทางการประเทศญี่ปุ่นจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว เบื้องต้นคาดว่าตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไปประเทศไทยจะสามารถส่งไก่สดเข้าญี่ปุ่นได้ โดยในปี 2557คาดว่า ไทยจะส่งออกไก่สดไปญี่ปุ่นได้ไม่น้อยกว่า 300,000 ตัน มูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท จากเดิมที่เคยส่งออกได้ถึง 500,000 ตันก่อนเกิดไข้หวัดนก อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีประเทศคู่ค้าอื่นๆ เปิดตลาดเนื้อสัตว์ปีกสดให้ไทยอีกในอนาคตอันใกล้ เช่น เกาหลี นอกเหนือจากประเทศต่างๆ ที่ได้เปิดตลาดเนื้อสัตว์ปีกสดให้ไทยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555 ได้แก่ สหภาพยุโรป สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเร็ต
นายยุคล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แม้ว่าไทยจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นในมาตรการควบคุมโรคไข้หวัดนก การผลิตเนื้อสัตว์ปีกสดของไทยที่ได้มาตรฐานสากล มาตรการควบคุมโรคระบาดสัตว์ และการตรวจรับรองสินค้าปศุสัตว์ที่เข้มงวดของกรมปศุสัตว์ ทำให้ประเทศคู่ค้าที่สำคัญมีความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าแล้ว แต่สิ่งที่หน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องร่วมกันดำเนินการให้เข้มงวดและเกิดขึ้นความต่อเนื่อง คือ การควบคุมโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย เนื่องจากไทยไม่มีการใช้วัคซีน แต่ของประเทศเพื่อนบ้านใช้ และยังมีการระบาดเป็นประจำ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องดำเนินการและเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นต่อไป