กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--ICT for All Club
ศาสตราจารย์ ดร. ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานผู้บริหาร (CEO) สถาบันศรีศักดิ์ จามรมาน การศึกษาทางไกลอินเทอร์เน็ต (Srisakdi Charmonman Institute of eLearning) อธิการบดีกิตติคุณ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม บุรุษคอมพิวเตอร์แห่งเอเชีย บิดาอินเทอร์เน็ตไทย และ ดร.ฐกฤต ปานขลิบ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม และอุปนายกสมาคมคอมพิวเตอร์ เอซีเอ็ม แห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึง “แนวโน้มไอที” ที่กำลังจะเกิดขึ้น 13 ประการ โดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็บ ของ IEEEในโอกาสที่ ศาสตราจารย์ ดร. ศรีศักดิ์ จามรมาน เดินทางมาเป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน ประจำปี พ.ศ. 2556 เรื่อง “180 ปี (2376-2556) ความสัมพันธ์ ไทย-สหรัฐอเมริกา; ไอซีที : บทเรียนจากสหรัฐอเมริกา” ICT for All Symposium 2013 on “180 Years (1833-2013) of Thai-U.S. Relations; ICT: Lessons Learned from the U.S.” และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ประสบการณ์ ICT ในสหรัฐอเมริกา จากอดีตสู่ปัจจุบัน และก้าวต่อไปในอนาคต" เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2556 เวลา 13.10 -13.25 น. ณ ห้องประชุม 401 อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค ชั้น 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
“แนวโน้มไอที” ที่กำลังจะเกิดขึ้น 13 ประการ มีดังนี้
1) สิ่งของทุกอย่างเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต โดยคาดว่า ในปี พ.ศ. 2563 สิ่งของทุกอย่าง รวมกว่า 100 พันล้านชิ้น (ทั้งโลกมีประชากรประมาณ 6-7 พันล้านคน) จะสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งเรียกว่า “Internet of Things” หรือ “IoT”
2) ความปลอดภัยของโลกไซเบอร์ เนื่องจากสมัยนี้ อะไรๆ ก็เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหมด ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารกับธุรกิจ ติดต่อสื่อสารกับรัฐ และกิจกรรมอื่นๆ ก็ทำในระบบดิจิทัล ฉะนั้น ความมั่นคงปลอดภัยในโลกไซเบอร์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
3) ข้อมูลจะมีมากมายมโหฬาร ยุคนี้เป็นยุคที่ทุกคนสามารถหาข้อมูลทุกอย่างได้ผ่านอินเทอร์เน็ต ฉะนั้น ในอนาคตก็จะมีข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะส่งผลให้หาข้อมูลที่ต้องการจริงๆ ยากขึ้น
4) การประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud Computing) ในด้านวิทยาศาสตร์ และ วิศวกรรมศาสตร์ แต่เดิมมาการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆใช้ในทางธุรกิจ แต่ในอนาคตมีการใช้กลุ่มเมฆในวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มากขึ้น
5) สมาร์ทโฟนกับการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ ปัจจุบันนี้ มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูล ซึ่งอาจจะอยู่ในแม่ข่ายแบบกลุ่มเมฆ ฉะนั้น ในที่สุดเพื่อเป็นการลดต้นทุนในการวางโครงสร้างพื้นฐานองค์กรทั้งหลายจึงพากันจัดบริการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆให้ใช้ได้โดยสะดวกผ่านโทรศัพท์มือถือ
6) การเซนเซอร์และการควบคุมอินเทอร์เน็ต บางคนอาจมองว่า อินเทอร์เน็ต คือ สนามรบเล็กๆ ที่บางที คนก็ใช้เพื่อโจมตีกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ระหว่างรัฐบาลกันเอง หรือ อาจจะระหว่างประชาชนกันเอง เพราะฉะนั้น การเซนเซอร์และควบคุม จะต้องมีมากขึ้น
7) การแสดงสื่อในสาธารณะ จากที่ปกติเวลาคนต้องการจะดูอะไร ก็จะไปที่พิพิธภัณฑ์ หรือ ห้องสมุด แต่ในอนาคต คนก็แค่เปิดเว็บ และได้ทดลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตแทน
8) โทรศัพท์อัจฉริยะในยุคต่อไป การใช้โทรศัพท์อัจฉริยะในยุคต่อไป ไม่ได้แค่มีไว้ติดต่อสื่อสารกับครอบครัว หรือเพื่อนฝูง แต่ยังสามารถเข้าถึงระบบการให้บริการต่างๆ อาทิ จองตั๋วรถไฟ สั่งอาหาร ดูหนัง ฟังเพลง เป็นต้น
9) เทคนิคภาพเคลื่อนไหวสามมิติ และ มัลติมีเดีย ด้วยเทคโนโลยีในด้านมัลติมีเดียที่ดีขึ้น การเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบสามมิติ จึงเป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับแอพพลิเคชั่นต่างๆ อาทิ สถาปัตยกรรม การบันเทิง และการผลิต เป็นต้น
10) ระบบความปลอดภัยจะมีความสำคัญมากขึ้นในยุคต่อไป ในอนาคตเมื่อทุกอย่างต้องจัดการผ่านอินเทอร์เน็ต เพราะฉะนั้น ความปลอดภัย จึงยิ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากขึ้น
11) ความเชื่อมั่น ในอนาคต ควรจะสามารถตรวจสอบ และกู้คืนระบบโดยรวมได้แบบอัตโนมัติ เพื่อที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นในการทำงานผ่านระบบ และทำให้เกิดปัญหาน้อยลง โดยที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม
12) การติดต่อสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูด ในอนาคตจะมีการติดต่อสื่อสาร โดยจะไม่ใช้คำพูดมากนัก แต่จะใช้การสัมผัส และ การแสดงกริยาท่าทางแทน
13) สื่อสำหรับเก็บข้อมูล จะต้องมีขนาดใหญ่มากขึ้น และเรียกหาข้อมูลได้ สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และมีการสำรองข้อมูลโดยอัตโนมัติ
ทศพนธ์ นรทัศน์
thossaphol@ictforall.org
ประธานชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน (ICT for All Club)