กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--บีโอไอ
บีโอไอระดมหัวหน้าสำนักงานต่างประเทศ 14 แห่งทั่วโลก ร่วมวางแผนโรดโชว์และสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั่วโลก สำหรับการชักจูงการลงทุนในปี 2557 เน้นภารกิจหลักคือ สร้างความเชื่อมั่นว่าการเมืองไม่กระทบนโยบายส่งเสริมการลงทุน ซึ่งไทยยังคงต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลง ตลอดจนเน้นเผยแพร่ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ และนโยบายอีโคคาร์เฟส 2
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 23 – 27 ธันวาคม 2556 บีโอไอได้จัดการประชุมหัวหน้าสำนักงานต่างประเทศทั้งหมด 14 แห่ง เพื่อระดมสมองในการกำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมและชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการจัดทำแผนกิจกรรมการเดินทางไปชักจูงการลงทุนในต่างประเทศ หรือโรดโชว์ และปรับแผนกิจกรรมส่งเสริมและชักจูงการลงทุนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ เช่น การมุ่งเน้นไปที่บริษัทเป้าหมายที่มีศักยภาพในสาขาที่ประเทศไทยต้องการ อาทิ ยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ อิเล็กทรอนิกส์ อากาศยาน การวิจัยและพัฒนา พลังงานทดแทน และการวิจัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ บีโอไอยังจัดการอบรมให้กับหัวหน้าสำนักงานต่างประเทศได้รับฟังการบรรยายข้อมูล ที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติภารกิจส่งเสริมและชักจูงการลงทุน เช่น ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ โอกาสและความท้าทายของการลงทุนจากต่างประเทศภายใต้ความร่วมมือ AEC ภาวะอุตสาหกรรม และทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ภาวะตลาดแรงงาน เป็นต้น
สำหรับภารกิจหลักของสำนักงานต่างประเทศในปีหน้า ได้แก่ 1. การสร้างความเชื่อมั่นให้กับ นักลงทุนต่างชาติว่าสถานการณ์ทางการเมืองไม่ได้ส่งผลกระทบต่อนโยบายส่งเสริมการลงทุน ประเทศไทยยังคงต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลง และ 2. การเผยแพร่ข้อมูลนโยบายใหม่ให้นักลงทุนต่างชาติทราบ อาทิ นโยบายเรื่องอีโคคาร์ เฟส 2 และยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2558 รวมทั้งให้สำนักงานบีโอไอในต่างประเทศสนับสนุนให้เกิดการลงทุนของนักลงทุนไทยในต่างประเทศ
ทั้งนี้ บีโอไอมีสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศรวม 14 แห่งทั่วโลก ครอบคลุม 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย 8 แห่ง ที่กรุงโตเกียว และนครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น นครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง นครกวางโจว ประเทศจีน กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ นครไทเป ประเทศไต้หวัน และเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ส่วนสำนักงานบีโอไอในภูมิภาคยุโรปมี 3 แห่ง ได้แก่ สำนักงานประจำนครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน นอกจากนี้ยังมีสำนักงานอีก 2 แห่งในภูมิภาคอเมริกา ได้แก่ สำนักงานประจำนครนิวยอร์ก และนครลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา และสำนักงานประจำนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
สำหรับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ย. 2556) มีโครงการลงทุนจากต่างประเทศยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมีจำนวน 1,015 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 386,671ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 22 โดยประเทศที่ลงทุนหลัก 5 อันดับแรกที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ (ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติที่ลงทุนผ่านสิงคโปร์ เช่น ญี่ปุ่น)
อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศสูงสุด คือกิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49 ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งหมดในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา รองลงมา ได้แก่ กิจการบริการและสาธารณูปโภค ร้อยละ 18 และกิจการเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน 10 ตามลำดับ
ในปี 2557 สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น บีโอไอยังคงวางตำแหน่งให้นักลงทุนหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป เป็นประเทศเป้าหมายสำคัญในการดึงดูดการลงทุน ควบคู่กับการชักจูงลงทุนจากพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย โดยจะใช้กิจกรรมหลัก เช่น การพบ นักลงทุนเป้าหมายเป็นรายบริษัท การจัดสัมมนาชักจูงการลงทุนเป็นรายสาขาอุตสาหกรรม และการสร้างเครือข่ายการลงทุนเป็นกิจกรรมดึงดูดการลงทุนเช่นเดิม และเพิ่มการให้ความสำคัญกับ กลุ่มประเทศใหม่ๆ เช่น จีน และ อินเดีย นอกจากนี้ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ยังเป็นจุดขายสำคัญสำหรับไทยในการชักชวนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ซึ่งถือว่าไทยยังได้เปรียบประเทศในภูมิภาคอื่นๆ