กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--ธนาคารกสิกรไทย
ใกล้สิ้นปี คนที่มีรายได้นอกจากจะรอโบนัสกันแล้ว อีกเรื่องที่ทุกคนต่างวางแผนกันคือ การเสียภาษี ซึ่งปีนี้การเสียภาษีมีการปรับเปลี่ยนเนื่องจากรัฐบาลได้ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยมีการปรับช่วงรายได้และปรับลดอัตราภาษีในแต่ละช่วง ซึ่งการคำนวณภาษีใหม่นี้จะทำให้ผู้มีรายได้น้อยได้ประโยชน์มากขึ้นเพราะขั้นในการคำนวณภาษีถี่ขึ้น ส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยเสียชำระภาษีในอัตราลดลงโดยอัตราภาษีที่ลดลงในอัตราใหม่ จะทำให้ประหยัดภาษีลดลงอีกร้อยละ5-50 จากจำนวนภาษีที่ต้องเสียในอัตราเดิม
ช่วงรายได้ ฐานภาษี ภาษีสะสมสูงสุด
0 - 150,000 ได้รับการยกเว้น
150,001 – 300,000 5% 7,500
300,001 – 500,000 10% 27,500
500,001 – 750,000 15% 65,000
750,001 – 1,000,000 20% 115,000
1,000,001 – 2,000,000 25% 365,000
2,000,001 – 4,000,000 30% 965,000
4,000,001 ขึ้นไป 35% >965,000 ++
1. ไม่หลุดสิทธิ์ลดหย่อน (Minimize Taxable Income)
ศึกษาเงื่อนไขการลดหย่อน และดูว่าตนเองสามารถหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง เช่น พ่อแม่มีอายุเกิน 60 ปี และมีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาท หรือลดหย่อนสำหรับบุตร ยิ่งมีค่าลดหย่อนมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้เสียภาษีน้อยลง นอกจากนี้ ยังสามารถลดหย่อนภาษีด้วยการออมหรือลงทุนให้เข้าเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ เช่น การลงทุนในกองทุนรวมแบบ LTF และ RMF
2. ใช้สิทธิ์ให้เต็มเหนี่ยว (Maximize Your Tax Benefits)
รายการสิทธิประโยชน์สำหรับการลดหย่อนภาษีซึ่งนิยมมากที่สุด คือ การซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม แบบ LTF และ RMFหรือประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10ปี ขึ้นไปซึ่งผู้ลงทุนควรศึกษาเงื่อนไขต่างๆ เพื่อมิให้เสียสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีได้
- กองทุนรวมLTF ลงทุนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวม RMF สามารถซื้อได้สูงสุด 15% ของรายได้ทั้งปี แต่ต้องนำไปคำนวณรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกบข. และเบี้ยประกันแบบบำนาญ โดยทั้งหมดจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
3. ลดทั้งทีต้องได้เป็นขั้น(Minimize Tax Bracket)
ควรคำนวณเงินได้ให้ส่งผลต่อการลดฐานภาษีลงอย่างน้อย 1 ขั้น เช่น เงินได้สุทธิ 600,000 บาท เสียภาษีฐาน 15% ก็ควรซื้อผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดหย่อนภาษีได้ เช่นกองทุน LTF, RMF หรือ ประกันรวมกันอย่างน้อย 100,000 บาท จะทำให้เงินได้สุทธิลดลงไปเหลือ 500,000 บาท ทำให้ฐานเสียภาษีลดลงไป 1 ขั้น เป็นฐาน 10% เป็นต้น
4. เล็งประโยชน์กับเป้าหมายให้สมดุล(Maximize Benefits against Goals)
การลงทุนเพื่อสิทธิ์ลดหย่อนภาษี ต้องมองความเสี่ยง และความคุ้มค่าจากผลตอบแทนย้อนหลังของสินทรัพย์ที่ลงทุน ควรเปรียบเทียบผลประโยชน์ทางภาษีที่ได้กับเป้าหมายของเงินที่มาลงทุน ระยะเวลาที่ต้องการใช้เงิน และการลงทุนทางเลือกอื่นที่มีเงื่อนไขน้อยกว่า ดังนั้นผู้ที่มีฐานภาษีน้อย ควรชั่งใจระหว่างสิทธิลดหย่อนของตนเอง กับโอกาสที่จะขาดทุนจากการลงทุนด้วย
5. ภาษี ณ ที่จ่าย รวมหรือแยกคำนวนคิดให้ดี (Manage Withholding Tax)
โดยปกติเมื่อมีรายได้เกิดขึ้นไม่ว่าทางใดก็จะต้องเสียภาษี รายได้บางประเภทเช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ผู้จ่ายจะหัก เพื่อเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งสรรพากรตามเกณฑ์ 10 – 15% เมื่อถึงสิ้นปีผู้มีเงินได้มีสิทธิ์เลือกที่จะนำรายได้ส่วนนี้ไปรวมกับรายได้ จากเงินเดือน เพื่อแสดงในแบบภ.ง.ด หรือเลือกไม่นำไปรวมก็ได้เทคนิคคือดูว่าอัตราที่ต้องเสียภาษีเมื่อสิ้นปีนั้นมากกว่าอัตราที่หัก ณ ที่จ่ายหรือไม่ หากมากกว่าก็ไม่ควรนำไปรวมคำนวณกับรายได้ เช่น หากเสียภาษีอัตรา 20% การถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ก่อน 10%-15% ก็ถือว่าถูกหักภาษีไว้น้อยกว่า ในทางตรงกันข้ามหากเสียภาษีอัตรา 5% ก็ควรเลือกนำรายได้จากดอกเบี้ยหรือเงินปันผลไปรวมคำนวณ แทนการถูกหัก ณ ที่จ่าย 10%-15% เพื่อให้ได้เงินภาษีคืนกลับมา
หากมีคำถามเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้กับทีมK-Expertธนาคารกสิกรไทยได้ที่K-Expert@kasikornbank.com