กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--มีเดีย พลัส คอนเนคชั่น
บนถนนหัตถกรรมท่าช้างในเมืองนครศรีธรรมราช หรือ “เมืองลิกอร์” ชื่อที่พ่อค้าชาวโปรตุเกส ชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่สองหรือเมื่อพ.ศ.2061 ใช้เรียกเมืองตามพรลิงค์ ชื่อเดิมของนครศรีธรรมราช และถูกบันทึกไว้ในจดหมายเหตุบันทึกเรื่องราวในประวัติศาสตร์ วันนี้แม้ว่าจะไม่มีใครเรียกที่นี่ว่าเมืองลิกอร์หรือตามพรลิงค์ ทว่างานหัตถศิลป์ชั้นเยี่ยมมากมายที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองของเมืองนครยังคงได้รับการสืบทอดและสืบสาน
เส้นสายเล็ก ๆ สีน้ำตาลเข้มที่นำมาถักทอเป็นงานหัตถศิลป์ชั้นเยี่ยมนั้น ไม่เพียงบ่งบอกถึงฝีมืออันประณีตวิจิตรบรรจงและความอุตสาหะของช่างผู้ถักทอ หากแต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ
ย่านลิเภาเป็นพืชตระกูลเฟิร์น หรือเถาวัลย์ตามภาษาภาคกลาง ที่มีคุณสมบัติเด่นของลำต้นที่เหนียว ชาวบ้านจึงนำมาทำเครื่องจักรสานเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระเชอ เชี่ยนหมาก กล่องใส่ยาเส้น พาน ปั้นชา ขันดอกไม้ธูปเทียน กรงนก กระเป๋าถือ เป็นต้น โดยมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่บ้านหมน ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์เหล่านั้นอาจเป็นเพียงสินค้าพื้นเมืองทั่วไปหากไม่มีเจ้านายจากหัวเมืองใต้นำขึ้นมาถวายในราชสำนัก และเผยแพร่ในหมู่เจ้านายมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2513 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริ ให้สอนการสานย่านลิเภาในโครงการศิลปาชีพ มีการพัฒนารูปแบบได้อย่างสวยงามประณีต เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางทั้งระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และทั่วประเทศ ด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวของย่านลิเภาที่เหนียวและทนทานมีอายุใช้งานมากเป็นร้อย ๆ ปี
นอกจากย่านลิเภาแล้วผ้ายกเมืองนครถือเป็นอีกภูมิปัญญาล้ำค่าของนครศรีธรรมราช ผ้าสำหรับเจ้าเมืองขุนนางชั้นสูงและพระบรมวงศานุวงศ์โดยในสมัยก่อนเป็นของที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้กับบุคคลสำคัญเจ้านายและข้าราชบริพารชั้นสูงใช้สวมใส่เวลาเข้าเฝ้า เป็นการแสดงสถานะของบุคคลต่อมามีการดัดแปลงเป็นผ้าสำหรับคหบดีเจ้านายลูกหลานเจ้าเมืองและสามัญชนทั่วไปใช้นุ่งสำหรับงานพิธีสำคัญต่างๆ
ปัจจุบันผ้ายกเมืองนครเป็นงานหัตถศิลป์ที่ได้รับการอนุรักษ์และสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน อาทิ “บ้านมะม่วงปลายแขน” โรงทอผ้าแห่งแรกของเมืองนครได้มีการทำสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษเป็นเวลากว่า 20 ปี ผ้าที่ทอเป็นลายสมัยโบราณได้มีการหยิบยืมผ้าสมัยโบราณจากวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเพื่อศึกษาลายและดำเนินการทอตามลายสมัยโบราณ ส่วน “หมู่บ้านเนินธัมมัง” อำเภอเชียรใหญ่ ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมังแห่งนี้เกิดจากน้ำพระทัยของ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถพระราชทานราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อก่อตั้งศูนย์ศิลปาชีพเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎร เมื่อปี 2536
ขณะที่เครื่องถมนคร โอท็อปชั้นสูง เป็นที่ทราบกันดีว่าหากจะสรรหาเครื่องถมชั้นยอดที่ขึ้นชื่อมาช้านานจะต้องเป็นเครื่องถมจากฝีมือชาวนครศรีธรรมราช เพราะเป็นงานฝีมือชั้นสูงที่ได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษ โดยในปัจจุบันชาวนครฯ ก็ยังทำกันอยู่แต่หากจะหาช่างที่สามารถทำเครื่องถมได้ครบทุกขั้นตอนคงจะมีไม่ถึง 10 รายในประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือ คุณตาพยงค์ จันทรังษี วัย 80 ปี ที่ขณะนี้ได้ปลดระวางการทำเครื่องถมเมืองนครไปนานแล้ว แต่ก็ยังได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากเครื่องใช้ไม้สอยที่มาจากภูมิปัญญาแล้ว หนังตะลุงที่เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาของชาวใต้นั้น เมืองนครก็เป็นแห่งแรกที่มีการจัดตั้ง พิพิธภัณฑ์หนังตะลุงของเมืองไทยขึ้น ที่บ้านนายหนังสุชาติ ทรัพย์สิน นายหนังที่เป็นทั้งผู้แกะสลักลวดลายให้กับตัวหนัง และเป็นผู้ปลุกวิญญาณให้หนังตะลุงเหล่านั้นโลดแล่นอยู่บนผืนผ้าสร้างความสนุกสนานให้กับผู้ชม จึงไม่น่าแปลกใจที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้ที่เพียบพร้อมไปด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ของหนังตะลุง จะได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (ไทยแลนด์ทัวริสซึ่มอวอร์ด) ประจำปี 2539 รางวัลดีเด่นประเภทวัฒนธรรมและโบราณสถาน
ไม่เพียงแต่งานหัตถศิลป์ชั้นเลิศเท่านั้น ที่เป็นสิ่งบ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของอดีตอาณาจักรตามพรลิงค์ แคว้นที่เก่าแก่ที่สุดแคว้นหนึ่งบนแหลมมาลายุ ด้วยประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 1,800 ปี และมีการติดต่อสัมพันธ์กับลังกาโดยรับเอาพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์เข้ามา จนทำให้ที่นี่กลายเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา งานด้านพุทธศิลป์จึงเป็นอีกสิ่งสำคัญที่อยู่คู่เมืองนคร โดยมีพระบรมธาตุเจดีย์ แห่งวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเพิ่งให้การรับรองเข้าสู่บัญชีเบื้องต้นเพื่อพิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2556 “เกิดมาหนึ่งชาติขอได้กราบพระบรมธาตุเมืองนคร” จึงกลายเป็นกิจกรรมสำคัญที่ขาดไม่ได้
ต่อด้วยการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของสะสม ณ บ้านท่านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์บ้านเรือนไทยใต้ถุนสูงทรงปั้นหยาอายุมากกว่า 108 ปีที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นปี 2556จากสมาคมสถาปนิกสยามซึ่งอยู่ตรงข้ามวัดพระมหาธาตุ สักการะพระพุทธสิหิงค์บริเวณศาลากลางจังหวัด พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราช ตามตำนานกล่าวว่าพระมหากษัตริย์ลังกาโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 700 และมาอยู่ประเทศไทยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ก่อนปิดท้ายด้วยการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาการค้าขายกับต่างชาติแสดงประวัติบุคคลสำคัญของเมืองนครศรีธรรมราชอาณาจักรตามพรลิงค์ และเมืองลิกอร์ ที่ พิพิธภัณฑ์เมืองตั้งอยู่ที่สวนสาธารณะสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด) พิพิธภัณฑ์แบบมัลติมีเดีย สื่อผสมผสานที่ทันสมัยที่ได้รับรางวัลกินรีเมื่อปี 2551 ที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ อย่างทันสมัยน่าติดตาม