กรุงเทพ--10 ส.ค.--สวช.
คำว่า "บุญ" หมายถึง การชำระหรือล้างจิตใจให้บริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญ ในงานมงคลหรือ อวมงคล ถ้าจะทำให้ถูกต้องและได้ผลดี ควรเป็นเรื่องของการทำจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด ไม่ใช่ทำด้วยความโลภ ความโกรธ หรือความหลง
คำว่า บุญ อาจกล่าวอธิบายได้ 3 ประการ คือ
1. กล่าวโดยเหตุ ได้แก่ การทำความดีซึ่งรวมถึงการเว้นความชั่วด้วย
2. กล่าวโดยผล ได้แก่ ความสุข
3. กล่าวโดยสภาพ ได้แก่ การที่จิตใจได้รับการชำระล้างให้บริสุทธิ์ ผ่องใส
เมื่อเข้าใจเรื่องของบุญทั้ง 3 ประการเช่นนี้ ก็ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า การทำบุญก็คือการทำความดีนั่นเอง
การทำความดีให้เกิดบุญนั้น คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองเท่านั้น จึงจะเป็นพืชสำหรับหว่านให้เกิดบุญขึ้นมาได้ แท้จริงตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา การให้ทานหรือบริจาคข้าวของเงินทอง เพื่อสงเคราะห์อนุเคราะห์ หรือเพื่อบูชาคุณก็ตาม เป็นเพียงหนึ่งใน 10 ประการ กล่าวคือคนที่ไม่มีเงินทองอาจเลือกทำบุญโดยไม่ต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองเลยได้ถึง 9 ประการ เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรคิดว่าคนยากจนมีโอกาสน้อยกว่าคนมั่งมีในการทำบุญ
ในที่นี้ขอนำวิธีทำบุญ 10 ประการ มากล่าวอย่างย่อ
1. การเอื้อเฟื้อให้ปัน
2. การรักษาศีล
3. การทำใจให้สงบ ทำปัญญาให้เกิดขึ้น
4. การอ่อนน้อมหรือแสดงคารวะ
5. การขวนขวายในกิจการที่ชอบที่ควร คือ ช่วยผู้อื่นหรือช่วยงานสาธารณะ
6. การให้ส่วนบุญ คือ การแบ่งส่วนบุญให้ผู้อื่น
7. การพลอยยินดีในการทำความดีของผู้อื่น
8. การฟังธรรมหรือฟังคำแนะนำอันเป็นธรรม
9. การแสดงธรรมหรือการให้คำแนะนำอันเป็นธรรม
10. การทำความเห็นให้ถูกให้ตรง (ตามทำนองคลองธรรม)
จากรายการทำบุญ 10 ประการข้างต้นนี้จะเห็นชัดว่า นอกจากทานการเอื้อเฟื้อให้ปันประการแรกแล้ว อีก 9 ประการหลัง ล้วนทำให้เกิดบุญได้ โดยไม่ต้องลงทุนทรัพย์สินอะไรเลย เพียงรักษาความประพฤติให้ดีงาม หรือเพียงการแสดงคารวะอ่อนน้อม หรือเพียงเห็นใครเขาทำความดี เราพลอยยินดีไปกับเขาหรือการทำความเห็นในถูกต้อง เป็นต้น ก็ได้บุญแล้วทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นการทำบุญที่ทำเป็น ทำถูก ก็ได้บุญ ถ้าทำไม่เป็นทำไม่ถูก แม้จะลงทุนลงแรงมาก ก็อาจได้บุญน้อย เช่น การทำบุญเพื่อความมีหน้ามีตา การทำบุญอย่างมีอารมณ์ขุ่นมัว มีการด่าว่าทะเลาะกันในเรื่องการทำบัญนั้น บางครั้งอาจได้บาปด้วยซ้ำ เช่น การฆ่าสัตว์ การฉ้อโกงเงินผู้อื่น เพื่อทำบุญ แม้ในการบริจาคทรัพย์ทำบุญก็เช่นกัน คนยากจนที่สละทรัพย์เพียงเล็กน้อย แต่ตั้งใจดี มีความบริสุทธิ์ใจ ข้อสำคัญขอให้พิจารณาถึงฐานะและความสามารถ ว่าจะทำอย่างไรจึงไม่เดือดร้อน แต่ได้บุญอย่างถูกต้องสมบูรณ์ เมื่อเข้าใจหลักการอย่างนี้ ก็จะได้ทำบุญถูกบุญ โดยไม่ต้องทุ่มเททรัพย์สินเงินทองแต่อย่างเดียว
อนึ่ง เพื่อความเข้าใจในความหมายของคำ ขอชี้แจงถึงคำว่า กุศล อีกคำหนึ่ง ซึ่งใช้ปนกัน หรือแทนกันได้ กับคำว่า บุญ เช่น บำเพ็ญกุศล คำว่า กุศล แปลว่า ฉลาด หมายถึง การทำคุณงามความดี ส่วนการทำความชั่วถือว่าเป็นอกุศล คือ ไม่ฉลาด โดยทั่วไปคำว่า บุญ กับ กุศล ใช้แทนกันได้ สุดแต่จะเลือกใช้คำไหนให้เหมาะสม แต่ในความหมายทางพระพุทธศาสนา คำว่า กุศล ใช้หมายถึงคุณงามความดีตั้งแต่อย่างต่ำจนถึงสูงสุด มีทั้งโลกียกุศล และโลกุตรกุศล ส่วนคำว่า บุญใช้หมายเพียงคุณงามความดีทางโลก หรือโลกียกุศล
คนไทยมีคติประจำใจอยู่ว่า "ทำบุญย่อมได้บุญ ทำบาปย่อมได้บาป" เพราะฉะนั้น การใดที่จะเป็นทางเกิดบุญกุศลก็นิยมทำการนั้นด้วยความเต็มใจ ความจริงการทำบุญย่อมเป็นบุญตั้งแต่เริ่มคิดทำ เช่น ใจคอปลอดโปร่ง แจ่มใส เมื่อขณะทำจิตใจก็สะอาด คือ หมดความตระหนี่ และทำแล้วก็มีความสุขใจ นี่แหละถือกันว่าเป็นตัวบุญ ผิดกับตัวบาปคิดทำก็มีใจหงุดหงิด ขณะทำก็หวาดระแวงไปต่าง ๆ พอทำแล้วก็เดือดร้อนใจ กลัวเขาจับได้ไล่ทัน นี่แหละคือตัวบาป เมื่อปรากฎผลต่างกันระหว่างบุญกับบาป ดังนั้น จึงนิยมว่าบุญควรทำ บาปไม่ควรทำ ด้วยเหตุนี้ทางพระพุทธศาสนาจึงได้วางหลักเกณฑ์การทำบุญไว้ 3 ประการ คือ ทาน ศีล ภาวนา เรียก บุญกิริยาวัตถุ คือ เรื่องการทำบุญ แม้วิธีทำบุญ 10 ประการ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นก็อนุโลมเข้าใน 3 ประการ นี้
ต่อไปนี้จะกล่าวเฉพาะทานอย่างเดียว
ทาน แปลว่า การให้คือตั้งใจให้ สละให้ หรือบริจาคในทางพระพุทธศาสนา กำหนดวิธีทำบุญที่เป็นทานไว้หลายอย่าง โดยมีวัตถุประสงค์ของการให้ทาน ดังนี้
1. เพื่ออนุเคราะห์ คือ ช่วยเหลือผู้มีความต้องการ เช่น ประสบภัยหรือขาดแคลน หรือได้รับความทุกข์ยาก ด้วยความกรุณา คือ คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์
2. เพื่อสงเคราะห์ คือ เกื้อกูลกันในระหว่างญาติ เพื่อนบ้าน มิตรสหาย เป็นการแสดงไมตรีจิตต่อกัน ด้วยความเมตตา คือคิดจะให้เป็นสุข
ทั้งข้อ 1 และข้อ 2 เป็นการแสดงออกซึ่งความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไม่เห็นแก่ตัว
3. เพื่อบูชาคุณ เช่น บูชาคุณมารดา บิดา ผู้มีอุปการคุณอื่น ๆ รวมทั้งพระภิกษุสามเณร ผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ เป็นการบูชาท่านผู้ควรบูชา--จบ--