กรุงเทพ--17 ธ.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข เร่งจัดตั้งคลินิคอดบุหรี่ให้ครบทุกอำเภอทั่วประเทศภายใน พ.ศ.2542 เป็นกองเชียร์ให้ประชาชนเมินบุหรี่ เผยล่าสุดนี้พิษของบุหรี่ทำให้คนไทยกว่า 1 ล้านรายต้องแห่เข้าหาหมอรักษา นอกจากนี้บุหรี่ยังจะทำให้คนไทยกว่า 11 ล้านราย เหี่ยวก่อนวัยอีกด้วย
เช้าวันนี้ ที่โรงแรมไดมอนด์ หาดใหญ่ นายคำรณ ณ ลำพูน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายในการแก้ไขปัญหาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ภายหลังเปิดอบรมวิชาการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาล 142 แห่ง ที่อยู่ใน 14 จังหวัดภาคใต้ทั้งหมด เพื่อนำไปจัดตั้งคลินิคอดบุหรี่ในโรงพยาบาลว่า การสูบบุหรี่เป็นพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพที่สำคัญที่สุดของประชาชนทุกประเทศ ไม่มีบุหรี่ยี่ห้อใดเมื่อสูบแล้วจะปลอดภัย โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า 1 ใน 4 ของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เป็นผลมาจากการสูบบุหรี่ ซึ่งมีสารพิษอันตรายคือสารนิโคติน และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ต่อปีบุหรี่จะเป็นต้นเหตุการเสียชีวิตของชาวโลกเฉลี่ยปีละประมาณ 3.5 ล้านราย หรือประมาณร้อยละ 6 ของการเสียชีวิตทั้งหมด
สำหรับประเทศไทยในปี 2539 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ได้แก่ โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง ประมาณ 42,000 ราย และมีรายงานผู้ป่วยโรคดังกล่าวเข้ารักษาซ้ำแล้วซ้ำอีกในโรงพยาบาลทั่วประเทศมากถึง 1.2 ล้านราย เมื่อคำนวณรายจ่ายที่ต้องใช้รักษาโรคเหล่านี้แล้ว จะตกประมาณ 2 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับรายได้จากภาษีสรรพสามิตในปีเดียวกันแล้วจะสูงกว่า 8 เท่าตัว
นายคำรณกล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจล่าสุด พบว่าคนไทยสูบบุหรี่เป็นประจำมากถึง 11.2 ล้านราย คนกลุ่มนี้หากยังเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ ในอนาคตจะกลายเป็นคนแก่เกินวันเร็วขึ้นประมาณ 10 ปี เมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกันที่ไม่ได้สูบบุหรี่ เนื่องจากสารในบุหรี่จะทำให้อวัยวะทุกระบบเสื่อมหน้าที่ลง ผลที่ตามมาก็คือจะทำให้สมรรถภาพการทำงานลดลง ความคิด ความจำไม่ปราดเปรื่อง ร่างกายจะอ่อนแอ ป่วยง่าย ยิ่งไปกว่านั้นวงการแพทย์ยังยืนยันว่าเด็กเล็กที่อยู่ในครอบครัวของผู้สูบบุหรี่ ก็จะได้รับผลกระทบนี้ด้วยกล่าวคือเด็กจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ อาทิ โรคหวัด ต่อมทอมซินอักเสบ หูส่วนกลางอักเสบ ปอดบวม ง่ายกว่าเด็กที่อยู่ในบ้านที่ไม่มีผู้ใหญ่สูบบุหรี่ถึง 2 เท่าตัว ขณะนี้ประเทศสหรัฐอเมริกามีรายงานเด็กเล็กได้รับผลกระทบนี้อย่างชัดเจนแล้วปีละประมาณ 300,000 ราย
"ดังนั้นการต่อสู้กับพิษภัยของบุหรี่นี้ จำเป็นจะต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ทุกชนิด ตนจึงได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งคลินิคอดบุหรี่ในโรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศซึ่งมี 804 แห่ง ให้ครบภายใน พ.ศ. 2542 เพื่อทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ให้สำเร็จ ขณะเดียวกันก็เผยแพร่ความรู้ในการรณรงค์ให้ประชาชนทราบพิษภัยบุหรี่ ขณะนี้จากการติดตามผลงานที่ผ่านมา พบว่าได้ดำเนินการแล้วในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือเต็มพื้นที่ โดยความสำเร็จนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะถวายเป็นราชสักการะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงมีพระชนมายุครบ 72 พรรษา ใน พ.ศ. 2542 โดยในปีงบประมาณ 2541 ได้จัดสรรงบดำเนินการ 12 ล้านบาท" นายคำรณ กล่าวในตอนท้าย--จบ--