กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--เมย์แบงก์ กิมเอ็ง
ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยในปี 2557 คาดตลาดฯมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนต่ำในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ก่อนที่จะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 โดยคาดว่าเฉลี่ยทั้งปี 2557 นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 10% (ไม่รวมเงินปันผล) ซึ่งดีขึ้นจากปี 2556
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ถือว่าเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงสุด คือ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและผลการดำเนินงาน รวมถึง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ ในขณะที่การชะลอมาตรการ QE ของเฟดที่จะเริ่มต้นในเดือน ม.ค. เป็นปัจจัยที่ยังคงต้องติดตามว่าจะสามารถทำได้ต่อเนื่องหรือไม่
ทั้งนี้ MBKET คาดว่า SET Index จะมีกรอบการเคลื่อนไหวบริเวณ 1218-1749 จุด โดยมีค่าเฉลี่ยบริเวณ 1500 จุด เนื่องจาก
ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงชะลอตัวตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ดังจะเห็นได้ว่า ตัวเลข GDP และ ผลการดำเนินงานออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ส่งผลให้ต้องมีการปรับลดคาดการณ์ตัวเลข GDP และ กำไรสุทธิของบจ.ลงอย่างต่อเนื่อง MBKET คาดว่า ตัวเลข GDP จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2557 เป็นต้นไป หากเปรียบเทียบแบบปีต่อปี เนื่องจาก ช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2556 เป็นช่วงที่ตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวแล้ว หลังจากผ่านช่วงที่ขยายตัวสูงซึ่งเป็นผลจากมาตรการรถยนต์คันแรก โดยเราคาดว่า GDP ปี 2557 จะขยายตัวในกรอบ 3-5% มีค่าเฉลี่ยที่ 4% โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ 3-4% เท่านั้น ส่วนหากสถานการณ์การเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ การส่งออกเติบโตได้ 5-8% คาดว่า GDP จะสามารถขยายตัวได้ 4-5% ทำให้ทั้งปี 2557 GDP สามารถเติบโตได้ 4% เช่นเดียวกับแนวโน้มผลการดำเนินงานของ บจ. ที่คาดว่าจะเริ่มขยายตัวในระดับที่น่าพอใจตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2557 เป็นต้นไป เนื่องจาก ไตรมาสที่ 1/2556 เป็นช่วงที่บจ.สามารถทำกำไรสุทธิได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่เริ่มชะลอตัวในไตรมาสที่ 2/2556 ทั้งนี้ เราคาดว่า ผลการดำเนินงานของบจ.ในปี 2557 จะขยายตัวได้ 13% โดยยังคงถูกผลักดันจากการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศเป็นหลัก แต่คาดว่าจะมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของธุรกิจพลังงาน และ การส่งออก เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร เป็นต้น ทั้งนี้ สัญญาณในเชิงบวกต่อบรรยากาศการลงทุน คือ การที่นักวิเคราะห์เริ่มกลับมาปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิของปี 2557 เพิ่มขึ้น หลังจากในช่วงปี 2556 เป็นช่วงที่นักวิเคราะห์มีการปรับลดการคาดการกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่อง
ทิศทางของเงินทุนต่างชาติที่มีความชัดเจนแล้วว่า นักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ในปี 2556 มากกว่าในช่วงวิกฤติการเงินสหรัฐฯปี 2551 ซึ่งสะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานของไทยที่อ่อนแอลง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การเมือง รวมถึง เป็นเรื่องของการปรับกลยุทธ์เพื่อไปลงทุนในตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และ ญี่ปุ่น รวมถึง ไปลงทุนในตลาดหุ้นแถบเอเชียเหนือ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง ที่ให้ราคาหุ้นยังคงถูก แต่กำลังน่าสนใจเนื่องจากเป็นตลาดหุ้นที่ได้ผลประโยชน์โดยตรงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะ การที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงในลักษณะ Soft landing หลังจากผู้นำประเทศกลับมาให้ความสำคัญกับเสถียรภาพเศรษฐกิจมากขึ้น เราคาดว่าเงินทุนต่างชาติยังคงสามารถไหลออกไปได้อีกในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 หากพิจารณาจากมูลค่าซื้อสะสมตั้งแต่ปี 2552 อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าเงินทุนต่างชาติมีโอกาสไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง แต่คงไม่มากเท่ากับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจาก เฟดกำลังจะเลิกมาตรการ QE ส่วน ปัจจัยสนับสนุนให้เงินทุนต่างชาติไหลกลับมานั้นจะเกิดขึ้นจาก 3 เงื่อนไข คือ 1) การเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเดินหน้าได้ การบริโภคฟื้นตัว โดยล่าสุด ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงติดต่อกัน 7 เดือน รวมถึง ดัชนีความต้องการซื้อบ้านลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ต่ำกว่าปี 2551 2) ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจนน่าสนใจ ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นบริเวณ 1200-1250 จุด และ 3) ตลาดหุ้นในต่างประเทศปรับตัวขึ้นจนแพงมาก ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นในปี 2557
MBKET คาดว่าช่วง 3-6 เดือนแรกของปี 2557 จะเป็นช่วงที่ความผันผวนในตลาดฯมีแนวโน้มสูงสุด เนื่องจาก เป็นช่วงรอยต่อสำคัญของการเมืองไทย คือ การเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นได้ตามกำหนดในวันที่ 2 ก.พ. หรือไม่ ซึ่งจากสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันเราประเมินว่ายังคงมีความเสี่ยงที่การเลือกตั้งอาจไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นตามที่ได้กำหนดไว้ คือ 2 ก.พ.2557 ผลการเลือกตั้งคงไม่สามารถแก้ไขความชัดแย้งทางการเมืองที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ซึ่งจะทำให้การเมืองไทยยังคงขาดเสถียรภาพ และทำให้รัฐบาลไม่สามารถเดินหน้าโครงการลงทุนต่างๆที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทยได้ตามที่นักลงทุนคาดหวัง เราประเมินว่า การคาดการณ์แนวโน้มตลาดฯปี 2557 จะมีความแม่นย้ำขึ้น หากผ่านช่วงไตรมาสที่ 1/2557 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่ง ดังนั้น การประเมินมูลค่าหุ้นของตลาดฯ เราจึงเลือกที่จะประเมินโดยแบ่งเป็น 3 กรณี คือ 1) กรณีที่ดีที่สุด (คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วง 2H2557) ดัชนีฯมีโอกาสเพิ่มขึ้นถึง 1749 จุด 2) กรณีปกติ คาด ดัชนีฯมีโอกาสเพิ่มขึ้นถึง 1507 จุด และ กรณีที่เลวร้าย (มีโอกาสเกิดขึ้นภายใน 1H2557) ดัชนีฯมีโอกาสลดลงไปถึง 1218 จุด