กรุงเทพฯ--2 ม.ค.--โปร มีเดีย พีอาร์
งานแสดงสินค้า interpack 2014 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าระดับโลกที่จัดขึ้นทุก 3 ปีที่เมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่มีการจัดแสดงนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์และโซลูชั่นการผลิตพร้อมทั้งเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการผลิตสินค้าให้กับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มโลก เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมก้าวข้ามความท้าทายและมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จ
งาน Interpack 2014 งานแสดงสินค้านานาชาติอุตสาหกรรมการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ชั้นนำของโลก ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-14 พฤษภาคม 2557 ที่เมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี จะเป็นเวทีที่มีการจัดแสดงสินค้าเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มตามแต่ละขั้นตอน โดยเริ่มจากการผลิตสินค้า และการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ตามความต้องการ การเลือกใช้วัสดุในแต่ละบรรจุภัณฑ์ และการกระจายสินค้า ไปจนถึงการรับประกันคุณภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค
มร.บาร์น ยาโบโนว์สกี ผู้อำนวยการจัดงาน interpack บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มรวมทั้งโลกได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ยูโรมอนิเตอร์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านการตลาดจากประเทศอังกฤษคาดการณ์ยอดค่าใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่มบรรจุในหีบห่อจะสูงถึง 2,715 พันล้านยูโรในปี 2556 และจะเติบโตขึ้น 25% ในปี 2560
ส่วนในด้านปริมาณ อาหารแปรรูปและอาหารที่บรรจุหีบห่อมีการขายในโลกถึง 748 ล้านตันในปี 2556 และคาดว่าจะมีการเติบโตปีละ 11% โดยจะมีปริมาณถึง 829 ล้านตันใน 2560 โดยตลาดที่มีการเติบโตสูงคือ ตลาดที่ถือว่าเป็นตลาดใหม่คือประเทศในเอเชีย อเมริกาใต้ ตะวันออกกลางและอาฟริกา ซึ่งภูมิภาคที่กล่าวมานี้มีสัดส่วนถึง 55% ของปริมาณที่จำหน่ายทั่วโลก
มร.ริชาร์ต เคเมนส์ กรรมการผู้จัดการสมาพันธ์วิศวกรรมแห่งประเทศเยอรมนี (VDMA) ฝ่ายกระบวนการการแปรรูปอาหารและการบรรจุภัณฑ์ และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของงานแสดงสินค้า interpack 2014 กล่าวว่าในสภาพสังคมปัจจุบัน สินค้าที่ไม่มีการบรรจุหีบห่อนั้นยากที่จะเป็นที่พอใจของผู้บริโภค ดังนั้นนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์จึงมีความต้องการทั่วโลก ในขณะที่อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เองนับได้ว่าเป็นปัจจัยด้านเศรษฐกิจนานาชาติที่สำคัญ โดยในปี 2556 มียอดจำหน่ายรวมกันทั่วโลกมากกว่า 500 พันล้านยูโร
มร. เคเมนส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมอาหารโลกเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์มากที่สุดคือ 45% ของบรรจุภัณฑ์ทั่วโลกได้จำหน่ายให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร และอีก 26% เข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม และสิ่งที่สอดคล้องกันกับการเจริญเติบโตของความต้องการบรรจุภัณฑ์ คือความต้องการเครื่องจักรสำหรับการผลิตและเครื่องหีบห่อสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นเพียงในปี 2552 ที่ได้เกิดภาวะวิกฤติทางการเงินและเศรษฐกิจโลก
ในปี 2555 ยอดการค้าของเครื่องจักรเหล่านี้มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์คือ 33 พันล้านยูโร หรือเป็นการเติบโต 8% จากปี 2554 ยุโรปยังเป็นตลาดที่มียอดจำหน่ายสูงสุด คือมีสัดส่วนถึง 43% ของทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามสัดส่วนการค้าในยุโรปได้ลดลงจากเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ ที่ตลาดยุโรปเคยมีสัดส่วนสูงถึง 55-60% โดยเอเชียได้ก้าวมาเป็นตลาดที่มีความสำคัญมากเป็นอันดับ 2 ด้วยสัดส่วนการค้าถึง 22% ตามด้วยอเมริกาใต้ที่ 10% และ 8% ในอาฟริกา ซึ่ง 2 ภูมิภาคหลังนี้คาดว่าต่อไปจะเป็นตลาดสำคัญ
นายไชยวุฒิ พึ่งทอง นายกสมาคมบรรจุภัณฑ์ไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไทย สามารถสร้างมูลค่าและนำรายได้เข้าประเทศจากการส่งออกและใช้ภายในประเทศ มีมูลค่าทางการตลาดกว่า 3 แสนล้านบาท โดยสัดส่วนของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ประมาณร้อยละ 50 และส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 50 เป็นอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ที่เกิดจากการใช้โดยตรงและทางอ้อม จึงถือเป็นอุตสาหกรรมที่ยังสดใสอยู่มาก
สำหรับโอกาสทางการค้าและการขยายการตลาด หลังจากที่เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี พ.ศ 2558 อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์ของไทย จะมีการส่งออกปีละประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท และอาจขึ้นไปถึงกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี แต่อุตสาหกรรมดังกล่าวยังมีประเทศคู่แข่งที่สำคัญ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตัวเอง โดยมุ่งตอบสนองลูกค้าเป็นหลักและต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ในงาน interpack 2014 นี้ ยังมีไฮไลท์กิจกรรมสำคัญที่จัดควบคู่งานเพื่อเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ส่วนแสดงงาน INNOVATIONPARC PACKAGING (IPP) 2014 และการจัดสัมมนาใหญ่ SAVE FOOD Congress ซึ่งได้มีการจัดเป็นครั้งที่ 2 โดยเป็นความร่วมมือของบริษัทเมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ
SAVE FOOD Congress เป็นเครือข่ายพันธมิตรที่ครอบคลุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการผลิตอาหารอย่างกว้างขวาง โดยการสัมมนานี้จัดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ และเป็นความพยายามที่จะลดความสูญเสียและของเสีย ซึ่งในแต่ละปี ทั่วโลกได้มีการทิ้งอาหารที่ถือว่าเป็นการสูญเสียมากถึง 1 ใน 3 ของอาหารทั้งหมด ในขณะที่มีคนมากถึง 842 ล้านคนที่ยังไม่มีอาหารรับประทาน
นอกจากนั้นยังมีส่วนจัดแสดง METAL PACKAGING PLAZA ซึ่งรวบรวมสินค้าบรรจุภัณฑ์โลหะจากผู้ผลิตและซัพพลายเออร์นานาชาติเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งในภาพรวมแล้ว งาน interpack 2014 ได้มีผู้ร่วมจัดแสดงสินค้ายืนยันการเข้าร่วมงานแล้วมากกว่า 2,700 ราย และคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานมากกว่า 165,000 คน ส่วนของประเทศไทยนั้น มีผู้ผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์จำนวน 12 รายเข้าร่วมในส่วนจัดแสดงพาวิลเลียนประเทศไทย