กรุงเทพฯ--2 ม.ค.--ศูนย์ข่าวเยาวชนล้านนาวิคลี่
(31 ธันวาคม 2556 – 1 มกราคม 2557 )วัดล่ามช้าง อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในหลายวัดในตัวเมืองเชียงใหม่ที่ริเริ่มทำกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ทำดีวิถีพุทธ ด้วยการนำของพระอธิการอานนท์ วิสุทโธ (ตุ๊นนท์)เจ้าอาวาสวัดล่ามช้างและเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ชุมชนวัดล่ามช้าง ปีนี้เป็นปีแรก และครั้งแรกในการเริ่มจัดงานสวดมนต์ข้ามปี ทำดีวิถีพุทธซึ่งเป็นการจัดงานที่เรียบง่ายและเน้นการจัดกิจกรรมแบบพื้นเมือง งานดังกล่าวท่านก็ไม่ได้จัดเตรียมงานที่ยิ่งใหญ่มากมาย เพียงแต่ทำป้ายโฆษณากิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีติดไว้ที่ประตูวัด และมีการทำสปอตวิทยุเห่และประชาสัมพันธ์ไปในชุมชนรอบวัดล่ามช้าง ตุ๊นนท์ได้เล่าว่างานนี้คาดหวังว่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 50 – 100 คน เนื่องจากจัดปีแรกประชาสัมพันธ์ไม่กว้างขวางเท่าไหร่ และท่านก็จัดเตรียมหนังสือสวดมนต์ประมาณ 100 เล่มเพื่อแจกจ่ายไปยังพี่น้องพุทธศาสนิกชนที่เข้าร่วมกิจกรรม
แต่ความเป็นจริงพี่น้องประชาชนเริ่มทยอยเข้ามาร่วมกิจกรรมตั้งแต่ 21.00 น. มีคนเฒ่าคนแก่แต่งชุดขาว คนหนุ่มสาวเข้าร่วมกิจกรรม พร้อมทั้งมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสนใจเข้าร่วมกิจกรรมอีกด้วย พอเวลาเริ่มเข้าสู่ 22.00 น. พื้นที่ในวิหารเริ่มเนื่องแน่นด้วยผู้คน อีกทั้งด้านล่างวิหารก็มีกลุ่มเด็กและเยาวชนวัดล่ามช้างบรรเลงเพลงแห่พื้นเมือง อันประกอบไปด้วย เสียงระนาด ฆ้องวง กลอง ฉิ่งและปี่ เป็นต้น นับว่าเป็นเสียงที่ไพเราะและดึงความเป็นวิถีล้านนาออกมาแสดงให้พุทธศาสนิกชนที่เข้าร่วมได้สดับรับฟัง หลังจากนั้นตุ๊นนท์ก็เริ่มชวนพุทธศาสนิกบนวิหารกว่า 200 คนเริ่มทำการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยและทำวัตรเย็น ก่อนที่จะมีการสวดมนต์ข้ามปี กลุ่มน้องเยาวชนหญิงชายเริ่มเอาเครื่องดื่มร้อนอย่างน้ำขิงมาบริการ ป้าๆ ลุงที่นั่งสวดมนต์บนวิหารนับว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้การเปล่งเสียงสวดมนต์นั้นดังกิ๊กก้อง เมื่อทำวัตรเย็นเสร็จกลุ่มเยาวชนนักดนตรีก็บรรเลงเพลงล้านนาขั้นเพื่อเป็นการเริ่มเข้าสู่การสวดมนต์ข้ามปี พระและสามเณรก็ชวนเริ่มสวดบทชุมนุมเทวดา เพื่อให้เทวดามาร่วมในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นมงคลในครั้งนี้ การสวดมนต์ข้ามปีในครั้งนี้เราสวดทั้งสิ้น 20 บทสวด เมื่อสวดผ่านไป 4 – 5 บทเราก็จะขั้นด้วยการบรรเลงเพลงแห่พื้นเมือง เพื่อเป็นการพักสายตากับหนังสือสวดมนต์และเป็นการเตรียมพร้อมในการสวดมนต์ต่อไป เมื่อเริ่มอ่านไปซักพักเราเห็นว่าผู้คนบนวิหารเริ่มมากขึ้น หนังสือสวดมนต์ที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอ และต้องมีการเสริมเก้าอีกออกไป กลุ่มวัยรุ่นที่เดินทางมาเที่ยวในเมืองเชียงใหม่เริ่มมาสมทบที่จะสวดมนต์ข้ามปี ทำดีข้ามพ.ศ.มากขึ้น จากนั้นก็เริ่มสวดไปเรื่อยเรื่อยทีละ บทสองบท
พอถึงเวลา 23.55 น. ตุ๊นนท์ชวนพุทธศาสนิกชนที่มาร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีนั้น นั่งสมาธิในพระวิหารเพื่อเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ให้ทุกคนตั้งสติ ทำสมาธิ ถึงแม้บรรยากาศโดยรอบของวัดจะเต็มไปด้วยเสียงดนตรีและเสียงพุที่หลายคนกำลังจะนับถอยหลังในการเข้าสู่ปีใหม่ แต่ในวัดจะนับก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ตุ๊นนท์ได้เล่าว่า การนับเราควรจะนับไปข้ามหน้า เพราะเราจะได้ก้างหน้า เราไม่ควรนับถอยหลังแบบ 5 4 3 2 1 0 เพื่อเป็นการถอยตัวเองและมันไม่เป็นวัฒนธรรมไทย เป็นการวิธีการมาจากชาวต่างชาติ ทุกคนนั่งสมาธิ สงบนิ่ง จนได้ยินเสียงตุ๊นนท์ได้บอกว่า เราได้ก้าวสู่วันใหม่แล้ว ให้ทุกคนค่อยๆเริ่มต้นและลืมตาเพื่อเข้าสู่วันใหม่ พร้อมให้พร ด้านล่างก็มีการบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ มหาชัย และทุกคนก็ช่วยกันสวดมนต์ในบทที่เหลืออยู่จนครบ ก็เป็นการเสร็จสิ้นพิธีกรรมการสวดมนต์ข้ามปีด้านบนพระวิหาร ด้านล่างพี่น้องชุมชนเมืองเชียงใหม่ก็มีการเตรียมอาหารเครื่องดื่มไว้รองรับแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม อาทิ ข้ามต้ม ส้มตำ หมูปิ้ง น้ำเต้าหู้ และนมเนย นับว่าเป็นการดูแลและเป็นการร่วมฉลองวิถีพุทธในการเริ่มต้นปีใหม่
หลังจากนั้นได้เข้าไปสัมภาษณ์ตุ๊นนท์ ท่านได้เล่าว่า งานดังกล่าวประสบความสำเร็จมีคนเข้าร่วมกิจกรรมเกินกว่าที่คาดหมาย และคิดว่าเป็นการดึงเยาวชน และผู้ใหญ่ได้มาร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน โดยเฉพาะคนในชุมชน นับว่าเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และท่านได้ย้ำคือไม่เน้นการบูชา การทำบุญเพราะกิจกรรมดังกล่าวให้ทุกคนสบายใจและมาร่วมทำดีด้วยกันก็พอ ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย อีกทั้งท่านยังบอกว่าในปีหน้าจะมีการจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีอีกแน่นอนจะมีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า และท่านก็ยังเชื่อว่าถือวัดทุกวัดร่วมกันทำจะดึงความเป็นพุทธ วิถีพุทธออกมาจากจิตใจและทำให้เกิดการทำความดีร่วมกันได้